'ผู้บริโภค' ยื่น ปคบ. เอาผิดเพจขายเตารีด หลังได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา จี้บริษัทผู้ขายรับผิดชอบลูกค้า พร้อมเสนอรัฐออกมาตรการคุ้มครองกรณีซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง ให้ลูกค้าตรวจดูสินค้าได้ก่อนชำระเงิน
......................
จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รับร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนมาก กรณีถูกหลอกลวงให้ซื้อเตารีดแรงดันไอน้ำ ซึ่งโฆษณาว่าเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อดังในประเทศไทย และขายสินค้าในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อและสั่งซื้อ สินค้าที่ทางร้านส่งให้กับผู้ซื้อกลับไม่ใช่ยี่ห้อตามที่โฆษณานั้น (อ่านเพิ่มเติม : เตือนภัยผู้บริโภค : หลอกขายเตารีดผ่านเพจเฟซบุ๊ก)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายธนัช ธรรมิสกุล เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และนางพูลสุข ทองพนัง หนึ่งในผู้เสียหาย เข้ายื่นหนังสือและเอกสารหลักฐานต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยมี ร.ต.หญิง รัชนี นวมข้าวเม่า เป็นผู้รับเรื่อง
นางพูลสุข กล่าวว่า ตนเองได้ซื้อเตารีดแรงดันไอน้ำผ่านเพจเฟซบุ๊ก Bhts โดยเลือกชำระเงินปลายทาง แต่เมื่อรับของแล้วแกะดูพบว่าได้สินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา จึงติดต่อบริษัทขนส่งไปในวันเดียวกัน เพื่อแจ้งปัญหาและขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย แต่บริษัทฯ บอกให้ไปแจ้งความและติดต่อกลับไปอีกครั้ง และเมื่อติดต่อกลับไปคอลเซ็นเตอร์แจ้งว่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ หลังจากนั้นได้ส่งเบอร์ติดต่อของผู้ขาย ซึ่งเป็นเบอร์เดียวกับที่ระบุไว้บนหน้าซองและไม่สามารถติดต่อได้
นางพูลสุข ยังระบุว่า อยากให้มีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทขนส่งต้องให้ความร่วมมือกับผู้บริโภคกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น โดยเฉพาะในกรณีเก็บเงินปลายทางนั้น ตนเสนอว่าควรมีมาตรการให้ผู้ซื้อสามารถเปิดสินค้าดูได้ก่อนชำระเงิน หรือในกรณีที่ชำระเงินไปแล้ว เมื่อได้รับร้องเรียนปัญหาจากผู้บริโภค บริษัทฯควรมีมาตรการในการจัดการปัญหา เช่น อายัดหรือระงับการส่งเงินค่าสินค้าให้ผู้ขาย และหากพบว่าสินค้ามีปัญหาจริงก็ควรคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคมากกว่าการนำส่งเงินให้ผู้ขายและให้ผู้บริโภคไปติดตามเงินจากผู้ขายเอง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ควรให้ความร่วมมือโดยการเปิดเผยชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้ขายเพื่อให้สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้รวดเร็วขึ้น
ด้าน นายธนัช กล่าวว่า ภารรัฐควรกำหนดให้ผู้ขายของออนไลน์ทุกราย ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดขายปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดช่องโหว่ ที่บุคคลที่ไม่หวังดีสามารถนำมาใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค และเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้
ขณะที่นายภัทรกร กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากจะเข้าข่ายฉ้อโกงแล้ว ยังมีประเด็นว่าสินค้าที่ถูกส่งมานั้น เป็นสินค้าที่ไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้วย โดยในกรณีมีการทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/