กรมราชทัณฑ์รายงานยอดผู้ต้องขังป่วยโควิดเพิ่ม 435 ราย เผยรักษาหายมากกว่าติดเชื้อ ชี้มาตรฐานการกักโรคยังทำงานได้ดี - 'สมศักดิ์' ย้ำใช้ศูนย์ CARE ติดตามดูแลผู้พ้นโทษให้ปลอดเชื้อ มีงานทำ เพื่อความปลอดภัยต่อสังคม
...........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดในเรือนจำและทัณฑสถานว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 435 ราย รักษาหายวันนี้ 1,228 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 6,350 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดในวันนี้ มีเรือนจำทัณฑสถานที่เป็นเรือนจำสีขาว คือ ไม่พบการแพร่ระบาด 129 แห่ง และสีแดงที่พบการแพร่ระบาด 12 แห่งคงเดิม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ เป็นการตรวจพบเชื้อจากการ SWAB หาเชื้อซ้ำในเรือนจำทัณฑสถานที่เป็นเรือนจำสีแดง 426 ราย และในห้องแยกกักโรคก่อนเข้าเรือนจำทัณฑสถานจำนวน 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้าใหม่จากภายนอก จากเรือนจำชั่วคราวรังสิต สังกัดเรือนจำอำเภอธัญบุรี 6 ราย และเรือนจำกลางนครราชสีมา เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก แห่งละ 1 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมอยู่ที่ 28,082 ราย หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจพบเชื้อระหว่างกักโรคในผู้ต้องขังเข้าใหม่ที่เป็นการติดเชื้อมาจากภายนอกนั้น แสดงให้เห็นถึงมาตรการกักกันโรคในเรือนจำทัณฑสถาน ว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถสกัดกั้นเชื้อก่อนเข้าพื้นที่เรือนจำทัณฑสถานชั้นในได้เป็นอย่างดี ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อภายในเรือนจำทัณฑสถานต่อจากนี้ จะเริ่มมีตัวเลขของผู้ที่รักษาหายเพิ่มมากขึ้น โดยเทียบจากจำนวนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่มีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาทั้งหมด และภายในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีเรือนจำสีแดงจำนวน 5 แห่ง ที่ผู้ติดเชื้อทั้งหมดจะได้รับการรักษาหาย หากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม คือ ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่คาดว่าจะหายทั้งหมดได้ในเร็วๆ นี้
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์มีมาตรการดูแลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งยังคำนึงถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขัง และการประสานงานส่งต่อผู้พ้นโทษที่ได้รับการปล่อยตัว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดโดยกรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE : Center for Assistance to Reintegration and Employment) หรือศูนย์ CARE โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้มีงานทำทั้งขณะต้องโทษ และการนำความรู้จากการอบรมวิชาชีพไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้พ้นโทษในด้านต่างๆ เป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษไปแล้ว เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐ และป้องกันการกระทำผิดซ้ำอีก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์ CARE ที่ตั้งอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถาน แจ้งช่องทางการติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ CARE จำนวน 137 แห่งทั่วประเทศ และจัดทำข้อมูลการติดต่อหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ให้ผู้พ้นโทษทราบ เพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ไม่มีการติดเชื้อ แต่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ให้มีการประสานงานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือต่อไป ส่วนการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีการติดเชื้อ หากผู้พ้นโทษยินยอมให้กักตัวภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ให้กักตัวให้ครบกำหนด 14 วัน แจ้งให้ญาติทราบข้อมูล เพื่อบรรเทาความห่วงใยของญาติ เมื่อครบกำหนดให้เรือนจำและทัณฑสถานออกใบรับรองครบกำหนดกักตัว และแจ้งผู้พ้นโทษให้ไปรายงานตัวต่อสาธารณสุขในพื้นที่ และกักตัวให้ครบกำหนด 14 วัน ในที่พักอาศัย และให้ติดตามอาการหลังสิ้นสุดการรักษา แล้วบันทึกข้อมูลทุกรายที่ติดเชื้อระหว่างการปล่อยตัวพ้นโทษ ในระบบรายงานผลการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพผู้พ้นโทษหรือผู้ถูกคุมประพฤติ (Care Support)
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากผู้พ้นโทษไม่ยินยอมให้กักตัวภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ให้ประสานโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือสำนักงานสาธารณสุขพื้นที่ ส่งต่อไปกักตัว หรือรักษาพยาบาล ในพื้นที่ที่สาธารณสุขกำหนด หรือให้กักตัวหรือรักษาพยาบาลในพื้นที่ภายนอกเรือนจำและทัณฑสถาน ที่กำหนดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว (shelter) แจ้งให้ญาติทราบข้อมูล โดยเมื่อครบกำหนดให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน ออกใบรับรองครบกำหนดกักตัว แจ้งผู้พ้นโทษให้ไปรายงานตัวต่อสาธารณสุขในพื้นที่ และกักตัวให้ครบกำหนด 14 วัน ในที่พักอาศัย และให้ติดตามอาการหลังสิ้นสุดการรักษา แล้วบันทึกข้อมูลทุกรายที่ติดเชื้อระหว่างการปล่อยตัวพ้นโทษ ในระบบCare Support นอกจากนี้ ตนยังกำชับให้กรมราชทัณฑ์มีการบูรณาการกับภาคสังคมในการยอมรับและให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยเป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วม คำนึงถึงความมั่นคงทางสังคมการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ได้รับการปล่อยตัวด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage