ครม.เคาะลดเงินสมทบประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน ม.40 เหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน 'บิ๊กตู่' กางแผนแก้หนี้ประชาชนทั้งระบบ สั่งวางมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อภายใน 6 เดือน ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ย - จัดซอฟต์โลนช่วยผู้ประกอบการติด NPL
---------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติการลดอัตราเงินสมทบเหลือ 60% เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม คือ กลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ทั้งนี้จะไม่กระทบต่อการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ มาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตนของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโควิด
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้ได้นำเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินเสนอต่อ ครม.ให้รับทราบ ตนมองเห็นปัญหาหากประชาชนมีหนี้กันตั้งแต่อายุน้อยจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของเขา จึงได้แก้ไขเรื่องนี้อย่างเข้มงวด ต้องครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระบบ ครอบคลุมหนี้สินกลุ่มต่างๆ วันนี้ร้อนใจมากที่สุดคือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครูและข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี ปัญหาหนี้สินอื่นๆ 51.2 ล้านบัญชี
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เราได้กำหนดมาตรการต่างๆออกมา คือ 1.ระยะสั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือน คือ ลดภาระดอกเบี้ย สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อทิสโก้ สินเชื่อนาโน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครู ข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย กำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกด้วย
2.การไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. , หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ , หนี้สหกรณ์ และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย จัดให้มีซอฟต์โลนสำหรับผู้ประกอบการที่ NPL เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ จัดทำโรงรับจำนองเพิ่มขึ้น ดูแลผู้มีรายได้น้อย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับระยะต่อไป เร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง ช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนราคาถูก จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้รายหลาย เป็นต้น สำหรับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน มีข้อมูลว่า ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 8.8 หมื่นล้านบาท แต่จากปี 2557 - ปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท
@ ม.40 เหลือจ่ายเงินสมทบ 42-180 บาทต่อเดือน
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... เพื่อลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 เหลือ 60% เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้การส่งเงินสมทบทางเลือกที่ 1 ที่ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี มีอัตราเงินสมทบใหม่ 42 บาทต่อเดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 2 ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี อัตราเงินสมทบใหม่ 60 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 100 บาทต่อเดือน และทางเลือกที่ 3 ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี อัตราเงินสมทบใหม่ 180 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 300 บาทต่อเดือน
สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลชำระเข้ากองทุนประกันสังคม ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน ดังนี้ โดยการส่งเงินสมทบทางเลือกที่ 1 อัตราเงินสมทบใหม่ 21 บาทต่อเดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาทต่อเดือน ทางเลือกที่ 2 อัตราเงินสมทบใหม่ 30 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาทต่อเดือน และทางเลือกที่ 3 อัตราเงินสมทบใหม่ 90 บาทต่อเดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาทต่อเดือน
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage