เครือข่ายภาคประชาสังคม-นักวิชาการ ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ส. แสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ให้ความช่วยเหลือพลเมือง-อภิปรายถึงจุดยืนอาเซียน ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัย
...............................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ห่วงใยในปัญหามนุษยธรรม ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้แสดงจุดยืนเรื่องเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา โดยระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยจากปวงชนชาวเมียนมา และการล้มเลิกการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อันสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น พวกเราบรรดาองค์กรภาคประชาสังคมที่มิใช่รัฐหรือมิค้ากำไร และเครือข่ายแวดวงวิชาการ นิสิต นักศึกษาสื่อมวลชน และผู้นำท้องถิ่น ได้มีโอกาสพบปะหารือกับฝ่ายต่างๆ ของเมียนมา และได้เพียรพยายามที่จะร่วมมือประสานกันในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้หนีภัยจากเงื้อมมือของฝ่ายกองทัพเมียนมามาโดยตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา
ในการนี้พวกเราเห็นว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายเป็นนักประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่ผ่านการคัดเลือกมาโดยประชาชนพลเมืองด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย และในเมื่อเพื่อนนักการเมืองร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเมียนมา และประชาชนพลเมืองเมียนมาเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่างถูกฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาเข้ามาทำการโดยมิชอบ ผิดกฎหมาย ไร้ความชอบธรรม ทำลายประชาธิปไตย ทำลายระบบรัฐสภา และทำลายอำนาจอธิปไตยของชนชาวเมียนมา พวกเราจึงอยากเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยทั้งหมดได้ร่วมกันออกมาแสดงการคัดค้านการยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพทหารเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ ข่มเหง กวาดต้อนคุมขังบรรดาชาวเมียนมาที่เห็นต่าง ที่รักและหวงแหนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ หรือนัยหนึ่งท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา และกับชาวเมียนมาเป็นการทั่วไป
นอกจากนั้น พวกเราก็ยังอยากเห็นสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายในเรื่องความเป็นไปในเมียนมา และนโยบาย และท่าทีของไทย ของประชาคมอาเซียนอย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยกันนำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศเมียนมาเพื่อนบ้าน และเพื่อยุติผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ดังกล่าว ต่อความมั่นคงปลอดภัยตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา และต่อภาระต่างๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยจากเงื้อมมือของฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาอีกด้วย
"พวกเราขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้อง กำกับ ควบคุม และสอดส่องให้ฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นแก่สิทธิเสรีภาพความเป็นประชาธิปไตย ความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิตของชาวเมียนมาเป็นสำคัญ และยุติการเกรงอกเกรงใจฝ่ายกองทัพทหารเมียนมาโดยใช่เหตุ เพราะอยู่ในฐานะที่ผิดกฎหมายและไร้ความชอบธรรม พวกเราใคร่ขอให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องและร่วมผลักดันให้มีการวางมาตรการการเปิดชายแดนไทย-เมียนมา การวางระบบการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยจากเมียนมา โดยให้มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาองค์กรต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ และกับบรรดากลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม" หนังสือดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ พวกเราเห็นว่าตลอดประวัติศาสตร์ความโอบอ้อมอารีของสังคมไทยนั้น ไทยเราได้เปิดพรมแดนให้ผู้หนีภัยเข้ามาสแสวงหาความร่มเย็นของสังคมไทยมาโดยตลอด ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายเป็นที่จดจำและยกย่องจากประชาคมโลก อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรับชาวเวียดนามสมัยสงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศส ชาวเวียดนามจากสงครามกลางเมือง ชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาทางทะเล ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทั้งในช่วงการกดขี่ของฝ่ายเขมรแดง การยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม และสงครามกลางเมือง การให้ความช่วยเหลือชาวลาวโดยเฉพาะชาวลาวชาติพันธุ์ม้ง และชาวเมียนมาในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา และยังอาจคั่งค้างอยู่ที่ค่ายอพยพอยู่อีกกว่าแสนคน และล่าสุดชาวเมียนมาชาติพันธุ์โรฮิงญา และชาวเมียนมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นแนวทางการดำเนินการที่เปิดเขตแดนอ้าแขนต้อนรับด้วยหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ที่พึงได้รับการพัฒนาต่อยอดต่อไป โดยทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนและเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยที่มีความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเรา เพื่อความสงบสุขในภูมิภาคนี้ การเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา หรือออกคำแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกรัฐสภาผู้รักในประชาธิปไตย และห่วงใยในมนุษยธรรม โดยเร็ว จักถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการริเริ่มภารกิจอันสำคัญนี้
จึงเรียนมาด้วยความเคารพ
ขอแสดงความนับถือ
ดร. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
ประธานมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า
รศ.ดร. โคทม อารียา
ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย
ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อํานวยการศูนย์โรตารี่เพื่อสันติภาพ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. ชยันต์ วรรธนภูติ
ศูนย์ภูมิภาคและสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD)
นายสุรพงษ์ กองจันทึก
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
นายสมชาย หอมลออ
ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
นางสาวอวยพร เขื่อนแก้ว
ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถึ
นายสมพงค์ สระแก้ว
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายอดิศร เกิดมงคล
เครือข่ายคณะทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ
ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผศ. ดร. นฤมล ทับจุมพล
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์
อาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายกษิต ภิรมย์
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายนิกร วีสเพ๊ญ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
นายกฤษฎา บุญชัย
Thai Climate Justice for All
กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
มูลนิธิชุมชนอีสาน
มูลนิธิพัฒนาอีสาน - สุรินทร์
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
มูลนิธิเพื่อนหญิง
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
ภาคีสากลชนเผ่าพื้นเมืองในป่าเขตร้อน ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)
สถาบันสังคมประชาธิปไตย
สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย
Climate Watch Thailand
Thailand HLPF Alliance
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage