ธปท.ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ไปถึงสิ้นปี 64 ช่วยลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง-ยังเปิดกิจการไม่ได้ เชื่อหนี้เสียทั้งระบบไม่พุ่งกระโดด
.....................
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง นโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนี้
1.ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เดิมครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.2564 ออกไปจนถึง 31 ธ.ค.2564 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้
2.กำหนดกลไกเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องพิจารณาถึงกระแสเงินสดของลูกหนี้ให้ชัดเจน และมีระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ที่ชัดเจน โดย ธปท. จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว
3.ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละสถาบันการเงินในปี 2563 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน
“มาตรการตรงนี้จะมาช่วยเสริมมาตรการที่ ธปท. ดำเนินการอยู่ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 และมาตรการที่เกี่ยวกับมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งเราหวังว่ามาตรการเสริมเหล่านี้จะกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยคำนึงถึงศักยภาพในการปรับตัวของลูกหนี้ในอนาคต รวมทั้งเป็นการดูแลสถาบันการเงินให้ความมั่นคงในการบริหารจัดการความเสี่ยง” นายรณดลกล่าว
นายรณดล กล่าวถึงแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) ในระบบ ว่า ระดับของ NPL จะขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้เร็ว ระดับ NPL คงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
“จากที่เราดูข้อมูล ก็ไม่ได้เห็นว่า NPL พุ่งกระโดด อาจมีเพิ่มขึ้นมาบ้างในเซ็กเตอร์บริการและภาคการท่องเที่ยว แต่ทั้งหมดนี้ หากมีการช่วยเหลือลูกหนี้ มีการเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพตามมาตรการต่างๆ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้ลูกหนี้ ก็เชื่อว่าระดับ NPL จะไม่ก้าวกระโดด” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวถึงการต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 ว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF โจทย์ คือ จะทำอย่างไรให้การลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ส่งผ่านไปให้ลูกหนี้
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า การขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs เป็นมาตรการเฉพาะเจาะจง สำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดได้ เช่น กิจการที่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ส่วนนิยาม SMEs จะครอบคลุมลูกหนี้ SMEs ตามนิยามในปัจจุบันของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง จากเดิมที่กำหนดนิยาม SMEs ว่ามีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ธปท.ต่ออายุมาตรการชะลอชำระหนี้ SMEs ถึงสิ้นปี-ให้แบงก์จ่ายปันผลระหว่างกาลได้
ผู้ว่าธปท.แจง ‘วุฒิสภา’ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ช่วยลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อตรงจุด
ผู้ว่าธปท. แจงสภา : 'พ.ร.ก.ซอฟต์โลน' จำเป็น-ตั้งเป้า 6 เดือน ปล่อยกู้ 1 แสนล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/