EIC ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 64 เหลือเติบโต 1.9% หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดใช้เวลา 4 เดือนคุมได้ ประเมินเศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนโควิดต้องรอถึงต้นปี 65
.......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) หรือ EIC ออกรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.9% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% หลังจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) ในการควบคุม
“การระบาดของโควิดระลอกใหม่ จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมาก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้มีแนวโน้มลดต่ำกว่าคาดมาอยู่ที่ 4 แสนคน แม้ทางการจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศจากความกังวลต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นต่อธุรกิจและแรงงาน” EIC ระบุ
อย่างไรก็ดี EIC ระบุว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไม่ชะลอลงมากจากคาดการณ์ครั้งก่อนมากนัก เป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่า รวมทั้งมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งจากวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ออกมาใหม่ ซึ่งเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาท จะช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้
“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวอย่างช้า โดยเศรษฐกิจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2565 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับ GDP ก่อนเกิด COVID-19 รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำสำคัญ ได้แก่ ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดที่อาจนานขึ้น และความล่าช้าด้านการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอและล้าช้าออกไปอีก ทั้งนี้ การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่กับการผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับ New Normal จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดขนาดของความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวร (permanent output loss) ของเศรษฐกิจไทย” EIC ระบุ
EIC ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2564 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่ยังมีความแตกต่างกันในรายประเทศ โดยประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ตามการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่การระบาดระลอกใหม่และการวัคซีนที่ล่าช้า โดยเฉพาะในเอเชียจะนำไปสู่มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งจะชะลอการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศ Emerging Market
ทั้งนี้ อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวตามการทยอยเปิดเมืองในบางพื้นที่และอุปทานที่ยังคงมีจำกัด จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และอาจมีผลต่อแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่กลุ่มประเทศ Emerging Market ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังคงซื้อสินทรัพย์ทางการเงินต่อเนื่องในปีนี้ และคงดอกเบี้ยจนถึงครึ่งหลังของปี 2566 เป็นอย่างน้อย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage