ครม.เคาะยกเว้นภาษีวิสาหกิจเพื่อสังคม ‘ประเภทไม่แสวงหากำไร’ ส่วนกรณีบริจาคเงินเข้า ‘กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม’ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
....................
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พ.ค. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคล ที่สนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สังคม เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562
สำหรับสาระสำคัญร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ได้แก่ 1.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร ตั้งแต่วันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ กรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมเปลี่ยนแปลงประเภทเป็นประสงค์จะแบ่งปันกำไร ให้หมดสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
2.กำหนดให้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ โดยสามารถหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยบุคคลธรรมดาหักลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษี และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายได้ตามจริง ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ
3.กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ โดยสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยไม่มีค่าตอบแทนผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
4.กำหนดให้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายสำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 โดยบุคคลธรรมดาหักลดหย่อนเท่าที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเท่าที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธ
5.กำหนดให้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินหรือการบริจาค โดยต้องไม่นำต้นทุนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 10 ล้านบาท แต่จะทำให้การดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม ขยายตัวมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคเอกชนยังสามารถช่วยรัฐในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจ้างงานบุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษและแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage