อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจงเอกชน ยื่นขออนุมัติเปิด รพ.สนาม เขตหลักสี่ ตั้งแต่ 5 พ.ค. แต่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และต้องให้ สบส.เข้าตรวจสอบก่อนเปิดให้บริการ พร้อมย้ำช่วงโควิด สธ.มีประกาศยกเว้นใบอนุญาตฯ หากตั้ง รพ.สนามช่วงโควิด
---------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้าตรวจสอบโรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดินในซอยแจ้งวัฒนะ 14 เขตหลักสี่ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตและสร้างความกังวลให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ กระทั่งเกิดข้อพิพาทกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสนามดังกล่าว ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
(ข่าวประกอบ : เปิดศึก หมอเหรียญทอง-สิระ ปมสร้าง รพ.สนาม เขตหลักสี่ , 'สิระ'แจ้งความ'หมอเหรียญทอง'โพสต์หมิ่นประมาท ปมตรวจสอบ รพ.สนาม หลักสี่)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงการตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด โดยสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเขตหลักสี่ ว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่ง ต้องดำเนินการสำรองเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาการขาดแคลนเตียง หรือเกิดผลกระทบกับการให้บริการทางการแพทย์ประเภทอื่นๆในอนาคต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศ เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกรณีให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเอกชนที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือสังคม โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล แต่ต้องได้รับอนุมัติจากกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน ที่ผ่านมาทำให้มีโรงพยาบาลสนามในรูปแบบนี้ เช่น Hospitel และโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ค.2564 มีจำนวน Hospitel 67 แห่ง จำนวนเตียง 13,695 เตียง
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในกรณีการตั้งโรงพยาบาลสนามในเขตหลักสี่นั้น ผู้ประกอบกิจการได้มีการยื่นหนังสือขออนุมัติเปิดโรงพยาบาลสนามกับกรม สบส. เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและจะสามารถเปิดให้บริการได้ก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.ได้ทำการตรวจสอบสถานที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐานโรงพยาบาลสนามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเสียก่อน จึงขอชี้แจงกับประชาชนให้มั่นใจได้ว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้นมีการควบคุมมาตรฐานการดำเนินการตั้งแต่การเลือกสถานที่ การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ระบบการดูแลรักษา ส่งต่อผู้ป่วย ระบบสื่อสาร การป้องกันควบคุมการติดเชื้อ ระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการขยะและน้ำเสีย การยอมรับของชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด และมีความปลอดภัยสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนโดยรอบ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเอกชน ที่มีความประสงค์จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิดภาครัฐก็มีความยินดีที่จะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ในการดำเนินการ แต่ขอให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุมัติจากผู้อนุญาตฯ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชน และหากมีข้อสงสัยหรือมีข้อคำถาม ก็สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage