นายกรัฐมนตรี ออกประกาศใหม่ กำหนดเกณฑ์การใช้อำนาจ สร้างความชัดเจน ชี้โอนอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เว้นแต่มีกรณีคำสั่งอื่น พร้อมระบุให้หน่วยงานตามกฎหมาย รายงานปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ปัญหาเสนอให้นายกรัฐมนตรี หรือศบค.ทราบทุกครั้ง
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศกำหนดอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 3 ได้มีการประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการโอนอำนาจหน้าที่ต่างๆของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือผู้ที่รักษาตามกฎหมายมานั้นว่า การโอนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ไม่ได้มีการโอนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมาย มาเป็นของนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ปกติ โดยให้รัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นประธานคณะกรรมการตามกฎหมายในลักษณะเช่นเดิม เว้นแต่มีกรณีใดที่นายกรัฐมนตรีอาจมีการเข้าดำเนินการ มีการประชุมร่วม หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
"การประกาศเพิ่มเติมขึ้นมานี้ เพื่อให้อำนาจหน้าที่ในส่วนของคณะกรรมการต่างๆ ตามพ.ร.บ.31ฉบับ สามารถประชุม และทำงานได้ตามปกติ" นายอนุชา กล่าว
นอกจากนี้ ในประกาศเพิ่มเติมนี้ ระบุอีกว่า ให้หน่วยงานตามกฎหมายต่างๆ มีการรายงานปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ปัญหาเสนอให้นายกรัฐมนตรี หรือศบค.รับทราบทุกครั้ง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี หรือประชาชนควรทราบเฉพาะในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. หน้ากากอนามัย
2. เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด
3. ยา เช่น ฟาวิพิราเวียร์
4. การยื่นเรื่องขออนุญาต การขอขึ้นทะเบียน การนำเข้า การจัดหา การประสาน หรือติดต่อกับต่างประเทศ และการจัดกาวัคซีนที่เกี่ยวกับโควิด
5. ออซิเจนที่ใช้ทางการแพทย์
6. เตียงผู้ป่วยในสถานพยาบาล การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
7. การรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับผู้ป่วย การอำนวยความสะดวก และการบริการขนย้ายลำเลียงผู้ป่วย
8. การควบคุมเส้นทางคมนาคม ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
ทั้งนี้ในกรณีที่เห็นสวควร นายกรัฐมนตรีอาจสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้หรือได้รับบริการที่รวดเร็ว
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดฉบับใหม่ และการปรับพื้นที่ กทม. และ5 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่ไช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นการขอความร่วมมือ ส่วนจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไวขึ้น ส่วนเรื่องของยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ในการรักษา กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ามีความพร้อมในทุกเรื่อง และมีการนำเข้ามาสำรองและสต็อกของไว้เพิ่มเติมแล้ว
สำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น นายอนุชากล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการ โดยจะต้องคำนึงถึงจังหวะเวลา ในการที่จะให้ประชาชนออกมาจับจ่ายได้ตามปกติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage