สธ.แจงคลัสเตอร์ร้านอาหาร จ.สุโขทัย ป่วยรวม 28 ราย ที่มาคุมเข้มมาตรการร้านอาหาร ย้ำเวิร์คฟอร์มโฮมอย่างเต็มรูปแบบ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หวั่นซ้ำรอย คลัสเตอร์ธนาคาร จ.สงขลา - พร้อมแจงผลข้างเคียงวัคซีนเกิดขึ้นได้ ยันวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันความรุนแรงของโรค
....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการควบคุมป้องกันโควิด ในการรายงานสถานการณ์การระบาดโควิดว่า การกำหนดมาตราการควบคุมป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในร้านอาหาร ทั้งการกำหนดเวลาเปิดปิด เว้นระยะห่างเพื่อลดความหนาแน่น รวมถึงควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนแต่มีความสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดได้
นพ.เฉวตสรร ยกกรณีตัวอย่าง คลัสเตอร์ร้านอาหาร จ.สุโขทัย ว่า มีผู้ติดเชื้อรวม 21 ราย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิง อายุ 65 ปี ต่อมาเกิดการติดเชื้อเพิ่มในร้านอาหาร 14 ราย แบ่งเป็นเจ้าของร้าน 2 ราย พนักงานเสิร์ฟ 2 ราย และลูกค้า 10 ราย หลังจากนั้นได้มีการแพร่กระจายนำเชื้อไปติดกับคนในครอบครัว เพิ่มอีก 7 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า จากกรณีดังกล่าว เห็นได้ว่ามีการนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว เป็นสิ่งที่ทาง สธ.ได้เน้นย้ำมาตลอดว่า หากเป็นไปได้ การอยู่ร่วมกันภายในบ้าน ก็ควรจะสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนในครอบครัว
ส่วนกรณีการรับประทานอาหาร ประชุมงานร่วมกันของธนาคาร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 9-10 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผู้ป่วยรายแรก เริ่มมีอาการเมื่อวันที่ 16 เม.ย. จากเหตุการณ์นี้ ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปยังภรรยาของเพื่อนร่วมงาน ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวม 26 ราย จึงเป็นที่มาของการขอความร่วมมือมาตรการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home อย่างเต็มรูปแบบ และจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ใช่บางคนบอกว่าเวิร์กฟรอมโฮม แต่ไปร้านกาแฟบ่อยขึ้น ขอความร่วมมือให้เป็นการออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หากต้องออกจากบ้าน ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และล้างมือ
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงกรณีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่สูงขึ้น 2,839 ราย จนเป็นที่น่าตกใจ ว่า ยังเป็นการพบผู้ป่วยกระจุกในบางพื้นที่เท่านั้น และเป็น ข้อมูลรอการสะสางที่ค้างมา 3-5 วัน จากการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และประชาชนให้ความสนใจในการตรวจหาเชื้อมากขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้มีข้อมูลตกค้าง เช่น มีชื่อ ไม่มีผลแลป มีการตรวจหาเชื้อซ้ำ ทั้งนี้ขออย่าวิตกกังวลมากเกินไป และขอความร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ด้าน นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ว่า การควบคุมการแพร่ระบาดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนที่จะปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล คือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก นอกจากนี้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ร้อยละ 60-70 เป็นอีกแนวทางที่ทั่วโลกนำมาใช้
สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการรับวัคซีน นพ.วิปร กล่าวว่า จะต้องพิจารณาประโยชน์กับความเสี่ยงทุกครั้ง โดยสามารถแบ่งออกเป็นอาการไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากตัววัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน หรือเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายผู้รับวัคซีน เป็นกระบวนการภายในของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และอาการแพ้วัคซีน ซึ่งอาการจะคล้ายคนแพ้อาการ แพ้อาหาร
นพ.วิปร กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์ แบ่งออกเป็นเฉพาะที่ และเป็นระบบ บางคนมีไข้ต่ำๆ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ แต่ปฏิกิริยาที่เป็นข่าวและทำให้หลายๆท่านกังวลใจ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่า Immunization Stress Related Response หรือ ISRR เกิดขึ้นเพราะมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน คนบางคนเมื่อมีความเครียดในการฉีดวัคซีน ก็จะกระตุ้นระบบภายในร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ต้องพักรอดูอาการหลังได้รับวัคซีน 30 นาที ซึ่งเป็นภาวะชั่วคราว เพราะหลังได้รับการรักษาแล้ว ไม่เป็นอันตรายในระยะยาว โดยมีการตรวจทางสมอง ไม่พบความผิดปกติ และจะหายภายใน 1-3 วัน จากข้อมูลประเทศบราซิล พบปฏิกิริยาที่เป็นผลแทรกซ้อนเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนซิโนแวคที่เป็นยาจริงและยาหลอกว่า ปฏิกิริยาไม่แตกต่างกัน บางคนฉีดยาหลอกก็มีอาการอ่อนแรงได้
นพ.วิปร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ตามจะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิต้านทาน เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยง จากผลการศึกษายืนยันว่าผู้ได้รับวัคซีนมีประโยชน์ในการกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานที่จะป้องกันการติดเชื้อ หากติดเชื้อจะช่วยให้ไม่มีอาการรุนแรง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage