กสศ.เปิดรับสมัครนักเรียนสายอาชีวะ เสนอชื่อเข้ารับ 'ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ' รุ่นที่ 3 บรรเทาผลกระทบจากโควิด ไม่ให้หลุดจากระบบ หนุนเสริมศึกษาต่อระดับสูงเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพ
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทวีความรุนแรงขึ้น เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลื่อนชั้นเรียนระดับต่างๆ แม้ว่าจะมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองมากเพียงใดก็ตาม
ดังนั้น กสศ.จึงต้องการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนผ่าน ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ เป็นหนึ่งในทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวและยังเป็นต้นแบบการลงทุนสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับสูงให้ผลตอบแทนกลับสู่ประเทศไทยอย่างคุ้มค่า
“จากการศึกษา OECD พบว่า ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Student) หรือเด็กที่มีฐานะยากจนในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ แต่มีความรู้ความสามารถในระดับเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจนหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน ซึ่งเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความคาดหวังต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย” น.ส.ธันว์ธิดากล่าว
จากข้อเท็จจริง เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มต่ำสุด ร้อยละ 20 แรกของประเทศมีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีโอกาสศึกษาต่ออยู่ที่ร้อยละ 32 หรือมีช่องว่างทางการศึกษา แตกต่างกันถึง 6 เท่า
“เด็กกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทุนการศึกษาให้เรียนต่อ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องออกนอกระบบการศึกษา หรือรับการศึกษาในมาตรฐานคุณภาพที่ไม่สามารถทำให้ศักยภาพได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ กลายเป็นแรงงานด้อยทักษะ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันมีคุณค่าของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย” ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.กล่าว
ผลจากการวิจัย พบว่า การลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับสูง เป็นการสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพและจะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคลต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม และการลงทุนในลักษณะเช่นนี้ได้มีการทำในหลาย ๆ ประเทศ ที่เน้นการส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบ ผู้ที่ไม่มีใครในครอบครัวเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ (Generations)
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า ระบบการศึกษาที่สนับสนุนสายอาชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง ได้แก่ ปริญญาตรี โท และเอก มีน้อยกว่าสายทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ กสศ. ต้นแบบทุนสร้างโอกาสให้เด็กช้างเผือก ฉะนั้น กสศ.จึงได้ริเริ่ม 'ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ' หรือ ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ต้นแบบทุนสร้างโอกาสที่สนับสนุนให้กลุ่มเด็กช้างเผือกที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้เรียนต่อเต็มศักยภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ
สำหรับ ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส.ได้รับการศึกษาต่อเต็มศักยภาพตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนหากเรียนจนจบการศึกษา ถือเป็นทุนแรกของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวศึกษาเป็นการเฉพาะและมุ่งให้แก่กลุ่มยากจนและด้อยโอกาส และสนับสนุนทุนในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ประเทศไทย 4.0
ทุนนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมเฉพาะการเรียนต่อปริญญาตรี โท เอก อย่างเดียว แต่ต้องสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้โดยมีระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) อีกด้วย
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวด้วยว่า กสศ. ยังจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาด้านเกษตรนวัตกรรมและวิศวกรรม กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการบ่มเพาะนักศึกษาในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท และจะมีการดำเนินการลักษณะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้นักศึกษาทุนสามารถเข้าถึงกระบวนการหนุนเสริมได้อย่างเหมาะสมกับบริบท
นอกจากนี้ กสศ.ยังร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางปฏิบัติให้นักศึกษาทุนและเชื่อมโยงให้ภาคเอกชนเป็นพี่เลี้ยงการทำโครงงาน/วิจัย การสนับสนุนทุน Co-funding รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายและกลไกเพื่อนช่วยเพื่อนในกลุ่มนักศึกษาทุน กิจกรรมช่วยเหลือสังคมและชุมชน
“นักศึกษาเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นแบบบุคลากรสายอาชีพชั้นนำของประเทศ เป็นผู้นำที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ ยกระดับภาพลักษณ์การเรียนอาชีวศึกษา ที่สามารถเติบโตเป็น นักวิจัย ผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น ถือเป็นการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง และพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง ทำนองเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์” น.ส.ธันว์ธิดากล่าว
ทั้งนี้ กสศ.อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 15 – 30 เม.ย. 2564 โดยผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่กำลังจบการศึกษาระดับ ปวช. / ปวส. หรืออนุปริญญา มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและได้รับการคัดเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน 2 – 3 ปี ภาคปกติ ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 ในสาขาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) หรือสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science, Technology, Engineering, Mathematics: STEM) และเทคโนโลยีดิจิทัล กรณีที่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 3 ปี ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00 ลูกจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัตินี้สามารถสมัครขอรับทุนได้เช่นกัน
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ www.eef.or.th/ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage