ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยสถิติประจำเดือน พบ 200 รายถูกดำเนินคดีการเมืองในช่วง มี.ค.2564 สะสมรวม 581 รายใน 268 คดี
----------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงสถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือน มี.ค.2564 เนื่องจากมีการจับกุมผู้ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ หลายครั้งด้วยกันในรอบเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งหลายคนที่ถูกจับกุมตั้งข้อกล่าวหา ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้ด้วย ทำให้มีสถิติประชาชนรายใหม่ๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมืองพุ่งขึ้นมากในเดือนนี้
สถิติในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 – 31 มี.ค.2564 รวมเวลา 8 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 581 คน ในจำนวน 268 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 199 คน และคดีเพิ่มขึ้น 61 คดี ภายในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว
เมื่อแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ พบว่า 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 82 ราย จำนวน 74 คดี
2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 26 คดี 3.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 171 คน ใน 35 คดี
4.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 444 คน ในจำนวน 128 คดี 5.ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 87 คน ในจำนวน 62 คดี 6.ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 35 คน ใน 40 คดี
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยด้วยว่า จากจำนวนคดี 268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 41 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือน มี.ค.2564 ยังมีประเด็นที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึง ได้แก่
1.การดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นกว่า 27 คดีในเดือนเดียว คดีบนโลกออนไลน์พุ่ง หลังเริ่มกลับมาบังคับใช้เอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเดือนที่ผ่านมามีการจับกุมนักกิจกรรมและประชาชน ทั้งในรูปแบบมีหมายจับและไม่มีหมายจับ อย่างน้อย 9 กรณี ส่วนสถานการณ์การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งการไม่อนุญาตให้ญาติหรือเพื่อนผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมได้ โดยเรือนจำอ้างถึงสถานการณ์โควิด รวมทั้งทนายความแม้จะเข้าเยี่ยมได้ แต่ต้องดำเนินการแต่งทนายความก่อน และการพูดคุยหารือคดีกับลูกความที่ศาล ยังถูกจำกัดมากขึ้น หลังจากศาลมีมาตรการเข้มงวดต่อคดีทางการเมืองมากขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน อ่านแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในห้องพิจารณาคดี
2.การจับกุมผู้ชุมนุมหรือผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในเดือน มี.ค. สถานการณ์การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมทางการเมือง ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นเดือนที่มีการจับกุมบุคคลจำนวนมากพร้อมกัน ใน 3 เหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์จับกุมทีมการ์ดวีโว่ ที่บริเวณเมเจอร์รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 64 จำนวนอย่างน้อย 48 คน, เหตุการณ์จับกุมในการสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม REDEM บริเวณสนามหลวงและใกล้เคียง รวม 32 คน และเหตุการณ์จับกุมผู้ชุมนุมและร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64 รวมช่วงเช้าและเย็นจำนวน 99 คน
3.สถิติเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า ในเดือนเดียว ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ทางการเมืองทั้งหมด ยังพบว่าเป็นกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 31 รายแล้ว โดยสถิติในเดือนมีนาคมนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ถึง 18 ราย หรือมากกว่าหนึ่งเท่า เนื่องจากมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนจากหลายเหตุการณ์ในเดือนที่ผ่านมา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุอีกว่า การดำเนินคดีต่อเยาวชนที่ร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ ที่หันไปใช้การกดปราบโดยกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/