ป.ป.ช.จัดสัมมนาโครงการศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ‘พล.อ.บุณยวัจน์’ ลั่นสภาพการคอร์รัปชั่นในไทย มักเกิดกับโครงการขนาดใหญ่ มีความร้ายแรง-กระทบผลประโยชน์ชาติ ทำรัฐสูญเสียงบประมาณ-เกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมหาศาล
................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต จัดสัมมนาเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการการศึกษาทบทวนการดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์ ‘สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย’ ณ ห้อง Richmond Ballroom 1 ชั้น 6 โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมี พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานในพิธีเปิด
โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการในประเด็นเกี่ยวกับรูปแบบการทุจริตเชิงนโยบาย กลโกงของการทุจริตเชิงนโยบายและกลไกในการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักวิชาการ ประชาชนและ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในการสกัดกั้น ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำระบบและกลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อวางแผนการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในอนาคตข้างหน้า
พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ถือว่าเป็นช่วงท้ายของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) สำหรับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งป้องกันการทุจริตตลอดกระบวนการนโยบาย แต่สภาพปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย แต่ยังปรากฏให้เห็นจากข้อเท็จจริงว่าการทุจริตเชิงนโยบายนั้น มีความร้ายแรงและกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยมักจะเกิดขึ้นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (Mega-Projects) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณและเกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล
“เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดทำเครื่องมือเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเป็นเกณฑ์ชี้วัดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนส่งเสริมให้นโยบายที่จะไปใช้บริหารประเทศมีความโปร่งใส ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบได้ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ตั้งแต่การกำหนดนโยบายจนถึงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ” พล.อ.บุณยวัจน์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/