ศาลปกครองเพชรบุรี พิพากษานายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ออกใบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการบ่อขยะโดยมิชอบ สั่งถอนใบอนุญาต-ฟื้นฟูแหล่งน้ำใน 90 วัน
--------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำพิพากษาให้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุม บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ไม่ให้นำขยะใหม่เข้ามาในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จนกว่าจะมีการอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมายและให้ทำการปิดคลุมบ่อขยะอย่างมิดชิด ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของกลิ่น รวมทั้งป้องกันไม่ให้น้ำเสียอันเกิดจากขยะออกภายนอกพื้นที่
นอกจากนี้ศาลยังสั่งให้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุมให้บริษัททำการแก้ไขฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่องกำหนดมาตรบานคุณภาพน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
โดยศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นตามคำพิพากษา โดยหากบริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ดำเนินการกับบริษัทตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ตามรายงานผลการตรวจสอบของพยานผู้เชี่ยวชาญต่อไป
สำหรับคดีนี้ เป็นคดีที่ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ กับพวกรวม 38 คน ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง และพวกรวม 3 ราย กรณีนายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง อนุญาตให้บริษัท ดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตามสัญญาเลขที่ 1/2557 ลงวันที่ 27 ก.ค.2557 ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งกลิ่นเหม็นจากกองขยะ รวมทั้งน้ำชะขยะที่ไหลออกจากพื้นที่บ่อขยะและน้ำเสียจากกองขยะที่ซึมลงใต้ดิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีและชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังเทศบาลตำบลท่าแลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงไม่ได้รับการดูแล และดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทบ่อขยะที่ออกให้กับบริษัท
ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทบ่อขยะให้แก่บริษัท เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง จะออกใบอนุญาตในพื้นที่ประกอบการ 105 ไร่ให้กับบริษัท ได้มีการเสอนเรื่องขอออกใบอนุญาตต่ออำเภอท่ายางและคณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาต/อนุมัติโครงการหรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อพิจารณาตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พบ 0016.3/ว 10801 ลงวันที่ 10 ก.ค.2551 อีกทั้งการประกอบกิจการดังกล่าวถือเป็นกิจการที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของเทศบาลหรือประชาชนในท้องถิ่น แต่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง กลับไม่ได้มีการเสนอเรื่องต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นตามมาตรา 32 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496
นอกจากนี้ยังเป็นการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ ก่อนที่บริษัทจะเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียจากบ่อขยะแล้วเสร็จ โดยบริษัทไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตโดยไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาร่วมพิจารณา
ดังนั้น นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ให้แก่บริษัท จึงถือได้ว่าเป็นการออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของสภาพปัญหากิจการบ่อขยะของบริษัทที่เกิดขึ้น กรณีจึงมีผลให้ใบอนุญาต เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนประเด็นที่ว่า นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการประกอบกิจการดังกล่าว ศาลเห็นว่า เมื่อปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากบ่อขยะเกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงที่มีสาเหตุจากการที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลงละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้บริษัทมีมาตรการที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียรวมทั้งการบำบัดน้ำเสียจากบ่อขยะ แม้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการปิดคลุมกองขยะด้วยผ้า Geo Textile และผ้าพลาสติก HDPE รวมทั้งปูพื้นบ่อรับน้ำชะขยะด้วยผ้า Geo Textile และผ้าพลาสติก HDPE แต่โดยที่ปรากฎข้อเท็จจริงตามรายงานการดำเนินการตามคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษว่ายังคงมีปัญหาเรื่องกลิ่นของขยะใหม่ที่รอการปิดคลุม อีกทั้งปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยานผู้เชี่ยวชาญ ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทุกฉบับ แต่ด้วยเหตุที่ใบอนุญาตแต่ละฉบับได้สิ้นผลงโดยเงื่อนเวลาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับให้เพิกถอน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/