กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีบุคลากร รร.สารสาสน์ฯ ทำร้ายเด็กเล็ก เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะโรงเรียนเปิดพื้นที่สมาคมผู้ปกครองเอื้อการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังปัญหา หนุน ศธ. ทบทวนแนวทางกำกับดูแลโรงเรียนเอกชน
......................................
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบเรื่องสิทธิเด็ก กรณีบุคลากรของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัยดังที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หยิบยกขึ้นตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจมาตรา 34 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยระบุว่า กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักวิชาการ บทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า บุคลากรบางคนของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพัฒนาการของเด็ก อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันมีการดำเนินคดีทางอาญากับพี่เลี้ยงที่กระทำการละเมิดในข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ และข้อหากระทำหรือละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดการทารุณต่อเด็กแล้ว ขณะที่โรงเรียนฯ ได้ยอมรับในความบกพร่องของการบริหารงาน และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์กับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาเป็นตัวเงิน การจัดให้มีนักจิตวิทยาและการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม
ในการนี้ กสม. จึงมีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์เพื่อให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับจากได้รับรายงานฉบับนี้ โดยกำหนดให้โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือชุมชน เช่น การเปิดพื้นที่ให้มีการจัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครองเพื่อเป็นส่วนช่วยในการเฝ้าระวังและรายงานปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งจะทำให้เกิดการเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งควรเพิ่มมาตรการคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม โดยอาจกำหนดเป็นแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจนและตรวจสอบได้
นายประกายรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาข้างต้น และได้มีการกำกับดูแลโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามกลไกที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ระบบสารสนเทศสถานศึกษาเอกชน (PSIS) ในการควบคุมการดำเนินการของโรงเรียนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าปัญหาในลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นได้อีกในสถานศึกษาเอกชนอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงระบบในการกำกับดูแลสถานศึกษาเอกชนในภาพรวม จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. กระทรวงศึกษาธิการ ควรพิจารณาทบทวนโครงสร้างการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการกำกับดูแลโรงเรียนเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาเพิ่มอัตรากำลังให้มีความเหมาะสมต่อการทำงานในเชิงรุกและเชิงป้องกัน
2. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรพัฒนาหลักสูตรอบรมกลางสำหรับผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคุณสมบัติของบุคลากรที่พึงมีตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กจากบุคลากรกลุ่มดังกล่าวอย่างยั่งยืน
3. คุรุสภาควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในทุกกระบวนการของการเข้าสู่วิชาชีพและการประกอบวิชาชีพ โดยอาจกำหนดเพิ่มเติมในมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการต่อใบอนุญาตวิชาชีพ
4. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรพิจารณาผลักดันให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางศึกษาจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคุณสมบัติของบุคลากรที่พึงมีตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและหลักวิชาการการศึกษาปฐมวัย และควรสนับสนุนให้มีการบรรจุหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ
“ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กย่อมก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อพัฒนาการในช่วงวัยต่อไป ครูหรือผู้ที่ดูแลเด็กปฐมวัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิเด็กและบทบาทในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่สมกับวัย โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” ประธาน กสม. กล่าว