เปิดเวทีสะท้อนปัญหาดื่มแล้วขับ โพล 93% หนุนเมาแล้วขับทำผิดซ้ำสอง ต้องเพิ่มโทษหนัก ไม่รอลงอาญา ติดคุกสถานเดียว ส่วนผู้ขายต้องมีส่วนร่วม “ขายอย่างรับผิดชอบ” ลดความสูญเสียบนถนน มั่นใจ “โทษหนักบังคับเข้ม” สร้างความตะหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม
.....................................
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 ในเวทีเสวนา “อุบัติเหตุดื่มแล้วขับกับความผิดซ้ำ และการขายอย่างรับผิดชอบ” จัดโดย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส.เริ่มดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2546 โดยสนับสนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง และร่วมส่งเสริมการสร้างมาตรการองค์กรและมาตรการชุมชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน จากข้อมูลคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติจาก กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ในเดือนเมษายน ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 มีจำนวน 17,584 คน ลดลงเหลือเพียง 550 คน ในปี 2563 ของเดือนเดียวกัน หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 96.8 ทั้งนี้สาเหตุสำคัญมาจาก การประกาศเคอร์ฟิว การห้ามจำหน่ายสุรา รวมถึงการปิดผับบาร์ ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้มีผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าการเอาจริงเอาจังของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการตรวจจับดื่มแล้วขับ เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้ ดังนั้น การสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จะยิ่งช่วยให้ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจของสวนดุสิตโพลต่อมาตรการเพิ่มโทษและห้ามการรอลงอาญาในความผิด “ดื่มแล้วขับ” ในกลุ่มตัวอย่าง 2,152 ราย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า กว่าครึ่ง ร้อยละ 56.37 เคยพบเห็นหรือตกอยู่ในเหตุการณ์เมาแล้วขับ โดยเกือบทั้งหมด ร้อยละ 93.96 เห็นด้วยว่าควรมีการเพิ่มโทษ สำหรับผู้ที่ทำผิดซ้ำ ในข้อหาขับรถขณะเมาสุรา และร้อยละ 87.45 เห็นด้วยหากผู้ที่กระทำผิดซ้ำในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นครั้งที่สองควรถูกตัดสินโทษจำคุกอย่างเดียวโดยไม่รอลงอาญา นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังเห็นด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มีประสิทธิภาพ เคารพกฎหมาย จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ “เมาขับ” กลับมาสร้างความสูญเสียอีก จึงเสนอข้อพิจารณาให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีมาตรการที่ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ต้น-กลางและปลายน้ำ แต่ในระยะเร่งด่วนนี้ ให้มีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย “โทษหนักบังคับเข้ม” เพื่อสร้างความตะหนักและปรับเปลี่ยนสังคม
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การรณรงค์ของธุรกิจน้ำเมาให้ “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ฟังดูดี บางคนเห็นคล้อยตามธุรกิจ แต่ถือว่าเป็นการพูดอย่างไร้ความรับผิดชอบ และไร้ความละอาย โยนความผิดให้ลูกค้าว่า เพราะดื่มไม่รับผิดชอบ จึงเกิดปัญหา ทั้งๆที่ธุรกิจน้ำเมาไม่มีสิทธิ์บอกว่า ให้คนดื่มรับผิดชอบ แต่ต้องพูดว่า “ขายอย่างรับผิดชอบ” จึงจะถูกต้อง มีงานวิจัยต่างประเทศ ระบุว่าการรณรงค์ให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่ได้ลดปัญหาจากการดื่ม แต่เป็นเพียงวิธีทางการตลาดของธุรกิจน้ำเมา ที่ทำให้ยอดขายสูงขึ้น โดยทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน เกิดความประมาท เข้ามาเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น และอายุของนักดื่มลดต่ำลง ทำให้เกิดการเสพติดมากขึ้น ธุรกิจน้ำเมาจึงได้ลูกค้าระยะยาว สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสังคม เพิ่มความรุนแรงในครอบครัว ทำลายอนาคตเยาวชน เกิดอาชญากรรม และสร้างปัญหาเศรษฐกิจในสังคมทุกระดับ
นพ. แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า คนทำธุรกิจก็คือคนทำธุรกิจแต่ธุรกิจน้ำเมาเป็นธุรกิจที่ไม่ปกติ เพราะตัวสินค้าทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม ทั้งจากปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท ฯลฯ สิ่งสำคัญทำอย่างไรให้คนไทยรู้ถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในการทำงานของมูลนิธิเมาไม่ขับ ตนเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถลด ละ เลิกได้ มูลนิธิเมาไม่ขับขอวิงวอน อย่าได้ออกมาขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะมีความผิดตามกฎหมายโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นแล้วยังมีภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งกับตนเองและผู้อื่น เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าว
ด้าน นายสนั่น สุทธิประภา พ่อผู้สูญเสียลูกชายวัย 1 ขวบ จากดื่มแล้วขับ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาจนตั้งตัวไม่ทัน เพราะกำลังนอนหลับอยู่ รถยนต์พุ่งเข้าชนในบ้าน ทำให้บุตรชายวัย1ขวบ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ส่วนภรรยาและลูกสาวบาดเจ็บ ส่วนผู้ที่ขับรถยนต์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา และทราบว่ามีอาการเมาสุราด้วย ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเหมือนตกนรกทั้งเป็น เรียกอะไรกลับคืนมาไม่ได้ อยากฝากว่า เมาแล้วขับต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือ สถานบริการควรปิดให้เร็ว เพื่อไม่ให้คนมีเวลาดื่มนาน รวมถึงโทษที่เกิดจากเมาแล้วขับควรเพิ่มมากขึ้น เพราะจะได้เกิดความกลัวกฎหมายไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก