ข้อมูลในงานวิจัยใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ทางการเมียนมามีการใช้อาวุธจำนวนมากและหน่วยทหารที่ตรึงกำลังทั่วประเทศ ระหว่าง “มหกรรมสังหารหมู่” โดยชี้ว่ากองทัพเมียนมาใช้ยุทธวิธีร้ายแรงถึงขั้นชีวิตมากขึ้น รวมทั้งการใช้อาวุธที่มักใช้ในสนามรบ เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้มุงดูตลอดทั้งประเทศ
...................................
จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอกว่า 50 ชิ้น ที่มีการเผยแพร่ระหว่างการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานตรวจสอบหลักฐานช่วงวิกฤติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถยืนยันได้ว่า กองกำลังความมั่นคงดูเหมือนจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการเร่งใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิต สภาพการสังหารที่มีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ รุนแรงถึงขั้นเป็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย
ฟุตเทจชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทหารของกองทัพเมียนมาหรือที่รู้จักกันในชื่อทัตมะดอ ได้เพิ่มการใช้อาวุธที่เหมาะกับสนามรบ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เพื่อควบคุมฝูงชน เรายังมักเห็นภาพเจ้าหน้าที่แสดงพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ รวมทั้งการกระหน่ำยิงโดยใช้กระสุนจริงอย่างไม่เลือกเป้าหมายในเขตเมือง
โจแอน มารีเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือวิกฤติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ยุทธวิธีของกองทัพเมียนมาเหล่านี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดมหกรรมสังหารหมู่เช่นนี้ให้ชาวโลกได้รับชม
“ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่เพียงบางคนที่รู้สึกคั่งแค้นและตัดสินใจแบบชั่ววูบ แต่เป็นผลจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่เคยพัวพันกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแต่ไม่มีความสำนึกผิด พวกเขาตรึงกำลังทหารและใช้วิธีการที่มุ่งสังหารอย่างเปิดเผย
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์รวมทั้งชิน คะฉิ่น กะเหรี่ยง ยะไข่ โรฮิงญา ฉาน ดาระอั้ง และอื่น ๆ ต่างตกเป็นเป้าหมายความรุนแรงที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา พร้อมกับกลุ่มสิทธิอื่น ๆ พวกเราเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งกรณีสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และให้นำตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเมียนมา รวมทั้งมินอ่องลายเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ตรงกันข้าม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกลับยังไม่ได้ทำอะไรเลย และในวันนี้เราได้เห็นทหารหน่วยเดียวกันยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมแล้ว
“หน่วยงานของกองทัพต้องยุติการสังหารหมู่เช่นนี้ ลดความตึงเครียดของสถานการณ์ทั่วประเทศ และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ”
คลิปวิดีโอ 55 ชิ้นเหล่านี้ ถ่ายระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม โดยผู้ถ่ายเป็นทั้งประชาชนทั่วไปและสื่อในท้องถิ่นตามเมืองต่าง ๆ รวมทั้งทวาย มัณฑะเลย์ มะละแหม่ง โมนยวา มะริด มิตจีนา และย่างกุ้ง
ตามข้อมูลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา จำนวนผู้เสียชีวิต จากการประท้วงจนถึงวันที่ 4 มีนาคมอยู่ที่ 61 คน ตัวเลขอย่างเป็นทางการนี้ ไม่นับรวมจำนวนผู้บาดเจ็บและล้มตายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
การใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิตที่เกิดจากการวางแผน เกิดจากเจตนาและมีการสั่งการ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอหลายชิ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการใช้กำลังถึงขั้นเสียชีวิตในลักษณะที่มีการวางแผน เกิดขึ้นโดยเจตนา และมีการประสานงานกัน
ในคลิปวิดีโอ ชิ้นหนึ่งที่ถ่ายในเขตซานชวง ย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม เป็นภาพผู้บัญชาการยืนสั่งการด้านหลังของเจ้าหน้าที่ที่ยิงปืนไรเฟิลซุ่มยิง ดูเหมือนผู้บัญชาการกำลังสั่งให้เขายิงผู้ชุมนุมบางคน
ในคลิปวิดีโอ ที่น่าสะเทือนใจของเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ในเขตออกกะลาปาเหนือ ย่างกุ้ง เป็นภาพเจ้าหน้าที่เดินนำหน้าชายคนหนึ่งเข้าหาทหารกลุ่มใหญ่ ดูเหมือนว่าชายคนนี้ถูกทหารกลุ่มนี้จับตัวไว้ และไม่ได้แสดงท่าทีขัดขืนอย่างชัดเจน เมื่อทหารที่อยู่ข้างตัวเขายิงปืนใส่เขา เขาล้มลงไปกองกับพื้นทันที และถูกทิ้งไว้บนถนนในสภาพที่ปราศจากชีวิตเป็นเวลาหลายวินาที ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินกลับมาและลากศพเขาไป
มีผู้ถูกสังหารสองคนและได้รับบาดเจ็บหลายคนที่มิตจีนา รัฐคะฉิ่น เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ในคลิปวิดีโอ ที่ผ่านการตรวจสอบชิ้นหนึ่ง เป็นภาพกลุ่มประชาชนกำลังวิ่งหนีกลุ่มควันหนาทึบ พร้อมกับมีเสียงปืนดังมาจากไกล ๆ เราจะได้ยินเสียงพูดด้วยความตื่นตระหนกว่า “แสบมากเลย” และ “มีคนหนึ่งตายแล้ว” ท่ามกลางเสียงตะโกนด้วยความตกใจ ในขณะที่มีบุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะถูกหามตัวออกไป จากนั้นเราได้เห็นภาพผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากถูกลากตัวไป ทิ้งกองเลือดขนาดใหญ่ไว้บนพื้น
ในคลิปวิดีโอที่ผ่านการตรวจสอบ อีกชิ้นหนึ่งซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นภาพทหารนายหนึ่งที่ทวายที่ดูเหมือนจะให้ตำรวจที่อยู่ข้างตัวเขายืมปืนไรเฟิลไปใช้ จากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็คุกเข่าลง เล็งปืนและลั่นไก จากนั้นก็เป็นภาพกลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านหลังที่ยืนอยู่และทำท่าโห่ร้องดีใจ
“เหตุการณ์นี้ไม่เพียงเผยให้เห็นถึงการไม่เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์เอาเสียเลย พวกเขายังทำให้การยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมเป็นเหมือนเกมกีฬาอย่างหนึ่ง ทั้งยังเผยให้เห็นการประสานงานอย่างจงใจระหว่างบรรดากองกำลังรักษาความมั่นคง” โจแอน มารีเนอร์กล่าว
การใช้อาวุธของทหารอย่างกว้างขวาง
ในวันที่ 5 มีนาคม สื่อของรัฐบาลอ้างคำพูด ของหน่วยงานทหาร ซึ่งปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารเหล่านี้ และอ้างว่าคนยิงเป็น “คนอื่นซึ่งไร้ศีลธรรม [ซึ่งอาจจะ] อยู่เบื้องหลังกรณีเหล่านี้”
อย่างไรก็ดี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตรวจสอบได้ว่า กองกำลังความมั่นคงมีอาวุธติดมือเป็นปืนของทหารหลากหลายชนิด รวมทั้งปืนกลเบาแบบอาร์พีดีของจีน และปืนไรเฟิลซุ่มยิงแบบเอ็มเอเอสที่ผลิตในประเทศ ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติแบบเอ็มเอ-1 ปืนกลมือที่สร้างเลียนแบบอูซี บีเอ-93 และบีเอ-94 และอาวุธชนิดอื่นที่ผลิตในเมียนมา ทั้งหมดล้วนเป็นอาวุธที่ไม่เหมาะสมจะนำมาใช้ควบคุมการประท้วง ตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ กองกำลังความมั่นคงควรงดเว้นจากการใช้อาวุธปืน เว้นเสียแต่ว่ามีภัยคุกคามอย่างชัดเจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส และไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเหลืออยู่
“อาวุธที่กองทัพเมียนมานำมาใช้ เผยให้เห็นยุทธวิธีการเร่งปราบปรามอย่างจงใจและอันตราย” โจแอน มารีเนอร์กล่าว
“เพราะไม่พอใจต่อการใช้อาวุธที่ร้ายแรงน้อยกว่า และเป็นการใช้อย่างไม่เลือกเป้าหมาย ในแต่ละวัน เราได้เห็นคำสั่งที่ชัดเจนเพื่อให้นำปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติมาใช้ รวมทั้งปืนไรเฟิลซุ่มยิง และปืนกลมือเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่า เราอยู่ในช่วงวิกฤติที่รุนแรงถึงขั้นชีวิตครั้งใหม่”
การตรึงกำลังเหล่านี้เกิดขึ้นหลัง การใช้จนเกินขอบเขต ทั้งแก๊สน้ำตา การฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้ระเบิดแสงยี่ห้อแดกวาง ดีเค-44 ของเกาหลีใต้ และแนวทาง ‘ควบคุมฝูงชน’ ที่อื้อฉาว รวมทั้งเหตุการณ์ที่กองกำลังความมั่นคงทุบตีประชาชนอย่างโหดร้ายที่ปรากฏในคลิปวิดีโอที่ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งถ่ายที่มัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม
ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงอาวุธที่รุนแรงน้อยกว่า รวมทั้งปืนยิง “ลูกบอลกระสุนพริก” และปืนยาวที่บรรจุกระสุนยาง ซึ่งผลิตโดยบริษัท Zsr Patlayici Sanayi A.S. ของตุรกี โดยลูกกระสุนที่ใช้ผลิตโดยบริษัท Cheddite ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี
การใช้อาวุธร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเกินเหตุและไม่เลือกเป้าหมาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังมีฟุตเทจที่ผ่านการตรวจสอบ เป็นภาพกองกำลังความมั่นคงที่ใช้อาวุธร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในลักษณะที่เกินเหตุ ไม่เลือกเป้าหมาย และน่าจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต
ฟุตเทจ ที่ผ่านการตรวจสอบที่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่มะละแหม่ง รัฐมอญ เป็นภาพกองกำลังความมั่นคงนั่งในรถกระบะ พร้อมกับกราดยิงด้วยกระสุนจริงอย่างไม่เลือกเป้าหมาย รวมทั้งการยิงใส่บ้านเรือนของประชาชน
ในคลิปวิดีโอที่ถ่ายในเขตเลดัน ย่างกุ้ง ที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ชายคนดังกล่าวบันทึกฟุตเทจระหว่างยืนมองจากระเบียงลงมา และบรรยายที่เห็นด้านล่าง ซึ่งเป็นภาพของเจ้าหน้าที่ติดอาวุธที่ดูเหมือนจะยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนโดยตรงใส่ประชาชนในถนน ระหว่างที่เบียดกับคนอื่นอยู่บนระเบียง เขายังคงบันทึกภาพต่อไป ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ในระดับถนนที่ดูเหมือนจะเหลือบมาเห็นตัวเขาขณะถ่ายวีดิโออยู่ เราได้ยินเสียงปืนยิงหนึ่งนัด ก่อนที่คนบนระเบียงจะพูดว่า “[มีบางคน] ถูกยิง! เข้าไปข้างใน [ห้อง] กัน!” จากนั้นก็เห็นเป็นภาพผู้หญิงคนหนึ่งนอนบนระเบียง พร้อมบาดแผลที่ศีรษะ
“ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ ต้องทำมากกว่าการแสดงวาทศิลป์ รวมทั้งการแสดงข้อกังวลต่าง ๆ และต้องดำเนินการทันทีเพื่อยุติการละเมิดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ” โจแอน มารีเนอร์กล่าว
มีการตรึงกำลังด้วยหน่วยทหารที่อื้อฉาว
จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเพิ่มเติมชี้ให้เห็นว่า หน่วยทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามจนถึงขั้นเสียชีวิตเหล่านี้ ประกอบด้วยกองบัญชาการย่างกุ้ง กองบัญชาภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และกองพลทหารราบเบาที่ 33, 77 และ 101 ซึ่งมักปฏิบัติการร่วมกัน และบางครั้งมีการหยิบยืมอาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากฟุตเทจที่ตรวจสอบโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปัจจุบันมีการตรึงกำลังกองพลทหารราบเบาที่ 33 ที่มัณฑะเลย์ กองพลทหารราบเบาที่ 77 ที่ย่างกุ้ง และกองพลทหารราบเบาที่ 101 ที่โมนยวา ทั้งสามเมืองล้วนเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังอย่างรุนแรงเกินขอบเขต รวมทั้งการสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
หน่วยทหารเหล่านี้บางส่วน มีชื่อเสียงอื้อฉาวเรื่องความทารุณ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และตอนเหนือของรัฐฉาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ ชี้ความผิดของทหาร จากกองพลทหารราบเบาที่ 33 ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงครามทางตอนเหนือของรัฐฉานเมื่อปี 2559 และ 2560 และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560