ภาคีเครือข่ายองค์กรเด็ก-สตรี ยื่นหนังสือร้องดีเอสไอรับคดี 'พริตตี้วาวา' เป็นคดีพิเศษ พร้อมขอให้ตรวจสอบโมเดลลิ่งรับงานเด็กเอ็นฯ เข้าข่ายค้ามนุษย์หรือไม่
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2564 นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และภาคีเครือข่ายกว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกร้องให้ตรวจสอบโมเดลลิ่งรับ กรณีส่งหญิงสาวเอ็นเตอร์เทนให้กลุ่มลูกค้าวีไอพี จนนำมาสู่การเสียชีวิต ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 หรือไม่
นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีมีโมลเดลลิ่งจัดส่งพนักงานเอ็นเตอร์เทนให้กลุ่มลูกค้าในงานปาร์ตี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และรวมถึงบริการทางเพศ ในพื้นที่ปิดเป็นการเฉพาะ ที่บ้านพักย่านพหลโยธิน เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย จน น.ส.วิชญาพร วิเศษสมบัตร ชื่อเล่น วาวา เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 ซึ่งชัดเจนว่ามีการทำผิดกฎหมายหลายมาตรา มีโมเดลลิ่งซึ่งทำหน้าที่จัดหา เป็นนายหน้า และได้รับประโยชน์จากการส่งพนักงานเอนเตอร์เทน โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงและอันตรายใดๆทั้งสิ้น
“ธุรกิจจัดหาพนักงานเอ็นเตอร์เทน เป็นธุรกิจมืด มีเม็ดเงินเป็นล่ำเป็นสัน มีกลุ่มคนได้ประโยชน์อย่างชัดเจน มีนายหน้าตัดรายได้ส่วนแบ่งจากการรับงานของพนักงานเอนเตอร์เทนแต่ละรายไม่ต่ำกว่า 30% และมีรูปแบบการเอนเตอร์เทนที่แบ่งระดับราคาแตกต่างกันไป เช่น ไปเป็นเพื่อนทานข้าว เพื่อนเที่ยว ไปเต้นโชว์ ไปร่วมดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเสพยา หรือมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ส่วนสถานที่จัดปาร์ตี้ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า แต่ต้องเป็นพื้นที่ปิด และเป็นที่รู้กันของคนในวงการนี้ ด้วยการเป็นธุรกิจมืด มีรายได้สูง ทำให้มีคนเข้ามาสู่วงจรอาชีพนี้จำนวนมาก และนับวันยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงอันตราย และยากที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ซึ่งเต็มไปด้วยคนเมา ทั้งเหล้าและยาเสพติด” นายชูวิทย์ กล่าว
ด้าน น.ส.อังคณา กล่าวว่า อาชีพพนักงานเอนเตอร์เทนพบว่ามีทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ชาย และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ช่วงอายุ 14 - 35 ปี หลายคนถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เพื่อแลกกับเงินค่าจ้าง บางคนต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด เพื่อเดิมพันให้ได้เงินพิเศษ บางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน ถูกโกงเงินค่าตอบแทน ถูกมอมเหล้ามอมยา หลายคนไม่กล้าไปหาหมอ หรือแจ้งความดำเนินคดีเมื่อถูกกระทำ เพราะกลัวตัวเองจะถูกดำเนินคดีอื่นด้วย ทั้งหมดนี้คืออันตรายและความบอบช้ำของคนในอาชีพเอนเตอร์เทน และเป็นสิ่งที่พูดถึงกันน้อยมาก ซึ่งไม่ว่าจะอาชีพใด เขาต้องไม่ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ต้องได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอกัน
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.ในกรณี น.ส.วิชญาพร หรือ วาวา ที่เสียชีวิต ขอให้ดีเอสไอนำเรื่องเข้าเป็นคดีพิเศษ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกราย รวมไปถึงโมเดลลิ่งที่เป็นนายหน้าจัดหา และขอให้ตรวจสอบว่าเหตุการณ์นี้เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มีการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นด้วยหรือไม่ หากเป็นการค้ามนุษย์ต้องกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ออกมาจากวงจรการค้ามนุษย์ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดทุกรายอย่างเข้มงวด เป็นรูปธรรม และจริงจัง
2.ขอให้ดีเอสไอ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยต้องไม่ไปลิดรอนสิทธิในการทำงานโดยสุจริตของคนกลุ่มอาชีพนี้
3.ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา และแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นเหตุการณ์จัดปาร์ตี้ ในรูปแบบที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย มียาเสพติด การล่วงละเมิดทางเพศ และการกระทำเข้าข่ายค้ามนุษย์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage