ดีเอสไอรับคดีสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯเป็นคดีพิเศษ - รับมอบสำนวนสอบสวน พร้อมตัวผู้ต้องหา กรณีทุจริตภายในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
.......................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งการให้ดีเอสไอ รับคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นคดีพิเศษ โดยได้แนบหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ของ รศ.ชูชาติ ธรรมเจริญ เพื่อให้ดีเอสไอสอบสวนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ซึ่งมี ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ , ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหาร ได้ร่วมกันเบียดบัง นำเงินฝากของสมาชิกออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์การกระทำความผิดโดยการนำเงินไปฝากและให้เงินกู้แก่สหกรณ์หลายแห่ง โดยการนำเงินไปฝากหรือให้กู้นั้น ไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด อันเป็นการยักยอกและหรือร่วมกันยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยร่วมกันกระทำหลายครั้ง อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3(18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยในการเบียดบังนำเงินของสมาชิกออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด มีพฤติการณ์นำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าว ไปโอน รับโอน ไปยังบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฟอก คณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนออธิบดีดีเอสไอ รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 25/2564 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มอบหมายให้ พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาฟอกเงิน คดีอาญาที่ 41/2563 พร้อมทั้งตัวผู้ต้องหา คือ นายบุญส่ง หงษ์ทอง กับพวก รวม 9 คน ให้ดีเอสไอดำเนินการตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง อนุมาตรา 1 และวรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547 ข้อ 5 โดยภายหลังจากนี้
ดีเอสไอ ได้ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการยึด หรือ อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และขอให้พนักงานอัยการ มีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืน หรือ ชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 6,000 ราย และสหกรณ์พันธมิตรอีก 15 แห่ง ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อเยียวยา และให้สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟสามารถบริหารจัดการต่อไปได้ โดยจะดำเนินการเชิงบูรณาการ ร่วมกับ ปปง. ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ส่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ และได้ทรัพย์สินคืนให้ผู้เสียหายโดยเร็ว ทั้งยังจะขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งถือเป็นดอกผลที่สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินได้ในอีกทางหนึ่ง อันเป็นการสนองตอบต่อปัญหาการทุจริต และนำทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน คืนให้กับผู้เสียหาย โดยจะเร่งรัดติดตามบุคคลและทรัพย์ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/