ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไร กำกับดูแลเอ็นจีโอ จะต้องจดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เน้นเรื่องความโปร่งใสของธรรมาภิบาล
................................................................
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหารายได้ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ โดยองค์กรภาคประชาสังคมเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาของชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งขององค์การภาคประชาสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ งบประมาณ มีรายละเอียด ดังนี้
1.กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมกรรมผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 7 คน โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงาน ให้คำปรึกษา จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน
2.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว และรับจดแจ้งองค์กรภาคประชาสังคม
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอ็นจีโอจำนวนมาก แต่ที่จดทะเบียนถูกต้อง มีเพียง 87 องค์กร ทำให้การกำกับดูแลของรัฐไม่ทั่วถึง และมีหลายองค์กรที่อ้างว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น เพื่อกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีได้ทำการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ในหลายประเทศ อาทิเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ญี่ปุ่น พบว่าแนวทางหลักจะมีความคล้ายกันคือ เน้นเรื่องมุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรฯ
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า การเห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.กฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานของเอ็นจีโอ เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กร ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้เอ็นจีโอ ต้องดำเนินการ คือ จะต้องจดแจ้ง หรือจดทะเบียนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, จะต้องทำตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด คือตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดว่าจะสามารถดำเนินงานในเรื่องใดได้บ้าง และจะต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของการดำเนินการ และเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ให้ชัดเจน มีการรายงานผลการตรวจสอบบัญชี เมื่อส่งให้ทางกรมการปกครองตรวจสอบแล้ว จะต้องเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้ทราบต่อไป เพื่อวัตถุประสงค์ของความโปร่งใสของการดำเนินงาน และแหล่งที่มาของรายได้ และเพื่อใช้เงินนั้นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชนจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐจะไปแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพขององค์กรแต่อย่างใด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage