นักวิชาการ งัดหลักฐานเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยลดคนสูบบุหรี่ได้จริง เทียบ 4 ประเทศขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรี ลดคนสูบเฉลี่ยแค่ 1.4% น้อยกว่าประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าที่ลดการสูบได้มากถึง 4.7-9.3% ส่วนไทย ลดการสูบได้ 6.5% แนะหากไทยเข้มงวดกับนโยบายห้ามสูบ FCTC ให้มีประสิทธิภาพ จะลดนักสูบได้มากขึ้น
.................................................
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีที่มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ (Foundation for a Smoke-Free World) ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ได้วิจารณ์นโยบายควบคุมยาสูบของประเทศไทยว่า แม้ประเทศไทยถูกยกย่องจากองค์กรนานาชาติว่า ควบคุมยาสูบได้ดี แต่อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ลดลงเพียง 6.5% หรือลดจำนวนคนสูบได้น้อยกว่า 1 ล้านคน พร้อมเสนอแนะว่าประเทศไทยควรจะพิจารณาสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ที่ลดอันตราย (harm reduction) เพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่นั้น ข้อเสนอนี้ได้เกิดคำถามว่า การยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจริงหรือไม่ หากพิจารณาข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศต่างๆ จะพบว่า หลายประเทศที่กฎหมายกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อัตราการสูบบุหรี่ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าประเทศไทย เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และจีน
“อัตราการสูบบุหรี่ระหว่างปี ค.ศ. 2007-2018 ของ 4 ประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ ลดลงโดยเฉลี่ยเพียง 1.4% เท่านั้น (ฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น 0.1% อิตาลีและสวิสเซอร์แลนด์ ลดลง 1.7% และจีน ลดลง 2.4%) ในทางตรงกันข้ามหลายประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า เช่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย อุรุกวัย บราซิล อาร์เจนติน่า และเนปาล อัตราการสูบบุหรี่กลับลดลงมากกว่า โดยเฉลี่ยระหว่างปี ค.ส. 2007-2018 ลดลงถึง 6.9% (เม็กซิโก ลดลง 4.9% ออสเตรเลีย ลดลง 4.7% อุรุกวัย ลดลง 8.3% บราซิล ลดลง 5.2% อาร์เจนติน่า ลดลง 9.1% และเนปาล ลดลง 9.3%) ดังนั้นการอ้างว่า การสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศลงได้ จริงเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะอ้างประเทศอังกฤษว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงได้ แท้จริงแล้วปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการสูบบุหรี่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1.บริบทของประเทศที่แตกต่างกันทั้งกฎหมาย วิถีชีวิตและวัฒนธรรม 2.ความก้าวหน้าในการดำเนินการควบคุมยาสูบตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ของแต่ละประเทศที่ทำได้มากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งการที่อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงช้า สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ คือเพิ่มความจริงจังในการดำเนินนโยบายควบคุมยาสูบตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การขึ้นภาษียาสูบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การจัดบริการเลิกบุหรี่ในสถานพยาบาลทุกแห่งและให้ยารักษาการเลิกบุหรี่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการเสริมความเข้มแข็งของกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด ไม่ใช่การยกเลิกห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าตามที่เครือข่ายบริษัทบุหรี่พยายามวิ่งเต้น
ทั้งนี้ สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติได้แสดงจุดยืนว่า ในประเทศรายได้ปานกลางที่ยังไม่ได้ทำตามที่อนุสัญญาควบคุมยาสูบกำหนดได้เต็มที่ การเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย จะทำให้ทรัพยากร/บุคลากรที่ใช้ในการควบคุมยาสูบที่มีน้อยอยู่แล้ว ต้องรับภาระเพิ่มในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จะยิ่งทำให้การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ยากเย็นมากขึ้น
อ้างอิง
1. FCTC Secretariat Relaunches Plan for Accelerated Tobacco Control, Part II: A Case Study: https://www.smokefreeworld.org/fctc-secretariat-relaunches-plan-for-accelerated-tobacco-control-part-ii-a-case-study/
2. Global Health Observatory data repository: https://apps.who.int/gho/data/node.main.TOBAGESTDCURR?lang=en
3. Country Laws Regulating E-cigarettes: https://www.globaltobaccocontrol.org/e-cigarette/sale
4. Successful countering of tobacco industry efforts to overturn Thailand's ENDS ban: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33229463/