ศาลไม่อนุญาตเป็นครั้งที่ 4 หลังทนายความสิทธิมนุษยชน พา ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-พนัส ทัศนียานนท์’ 2 อดีตอาจารย์ มธ. ยื่นประกัน 4 แกนนำม็อบราษฎร ปัดให้ความเห็นทางการเมือง
.........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นประกันตัวนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่ถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวจากคำสั่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง หลังถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในฐานความผิดตามประมวลอาญา ม.112 และมาตรา 116
นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ทีมทนายความได้ขอให้อาจารย์ทั้ง 2 ราย มาเป็นนายประกัน เพื่อขอปล่อยชั่วคราวหลังจากเรายื่นไปแล้วหลายครั้ง เหตุที่รบกวนอาจารย์ทั้ง 2 ราย เราเกรงใจ โดยอาจารย์ทั้ง 2 ราย เห็นว่า การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นประโยชน์ สิทธิในการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิที่พึงได้รับการพิจารณา เป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักการตามรัฐธรรมนูญและกฎบัตรที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ คนจะเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด น่าจะให้โอกาสพวกเขาได้ออกมาต่อสู้
นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ที่อาจารย์ทั้ง 2 ราย มาเป็นนายประกัน เป็นคนละเรื่องกับความคิดเห็นทางการเมือง อาจารย์ต้องการจะให้สังคมเห็นว่าระบบยุติธรรมถ้าจะคงอยู่เพื่อจรรโลงให้ประเทศชาติเป็นระบบระเบียบ ต้องว่ากันตามสิทธิเสรีภาพ ถ้าเขาผิดเมื่อขึ้นศาลก็ต้องติด แต่การปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีต้องติดคุกไปตลอด 3 ปี ระหว่างพิจารณาคดี ไม่เป็นธรรม เท่ากับสันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นความผิด ในฐานะเป็นทนายความก็อาจไม่เห็นชอบกับสิ่งที่เขาทำ แต่โดยหลักวิชาชีพนักกฎหมาย หรือความเป็นอาจารย์ เราให้โอกาสเด็กออกมาต่อสู้คดี ไม่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ
ขณะที่ นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนกับนายพนัส เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด ในแง่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา เราสอนคนต้องการยืนยันหลักวิชาการ เชื่อว่าสิ่งที่คนทั้ง 4 ราย กำลังทำอยู่ และคนรุ่นใหม่กำลังทำอยู่ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์สากลของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ
ส่วน นายพนัส กล่าวว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยมีสิทธิทางกฎหมายในการขอปล่อยชั่วคราว ตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนความหวังว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย เขาควรได้รับการประกันตัว เชื่อว่าไม่หลบหนีไปไหน และพยานหลักฐานก็ไม่ซับซ้อน เป็นอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเมืองตนไม่มีความเห็น และคนเรามีอุดมการณ์สำคัญที่สุด
@ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัว 4 แกนนำเป็นครั้งที่ 4
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ภายหลังยื่นคำร้องขอประกันตัวดังกล่าวแล้ว นายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่า ศาลให้เหตุผลว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ไป อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้อง คือยังไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้ง 4 คน ต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จ
นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า เมื่อเช้าทนายไปเยี่ยมทั้ง 4 ราย นายอานนท์ฝากบอกให้รู้ว่าไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องปล่อยชั่วคราว อย่าให้การที่เขาถูกขังโดยคำสั่งศาลจะทำให้การต่อสู้ของประชาชนข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงหรือเสียหายไป ยืนยันว่าถ้าศาลไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวอีก อยากให้เพื่อนฝูงที่อยู่ข้างนอกสู้กันต่อไป และเขาจะสู้จากข้างในโดยวิธีการของเขา แต่ตนไม่ทราบว่าเขาจะสู้อย่างไร และขอขอบคุณอาจารย์ที่มาช่วยประกันตัวจำเลยทั้งสี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/lawyercenter2014/photos/a.668860109830513/3679167515466409/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/