เลขาฯศาลยุติธรรม ออกโรงแจงถูกวิจารณ์เรื่องการพิจารณาพิพากษาคดี ลั่นทราบข้อความพาดพิงแล้วจากสื่อต่าง ๆ สั่งรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบต่อ ยันการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาทำงานด้วยความอิสระ-ปราศจากการแทรกแซง ขั้นตอนปล่อยตัวชั่วคราวทำตามกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจหลักการำงาน อย่าดึงเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นขัดแย้ง อย่าผลักเป็นคู่กรณีกับคู่ความเสียเอง การตั้งคำถามโดยใช้อารมณ์ย่อมบั่นทอนความน่าเชื่อถือศรัทธา หากพบทำให้เกิดความเสียหาย จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ
...........................................
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวพาดพิง และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการพิจารณาและพิพากษาคดีผู้พิพากษาและศาลยุติธรรมว่า ในฐานะที่สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการที่สนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมของศาล ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอเรียนว่า ศาลได้ทราบการปราศรัยและการเผยแพร่ข้อความที่พาดพิงศาลแล้วจากที่มีการเผยแพร่ตามสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เบื้องต้นได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อนั้นไว้แล้ว โดยในส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น สํานักงานศาลยุติธรรมจะได้ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
นายพงษ์เดช กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ต่อการอำนวยความยุติธรรมด้านคดี ขอเรียนว่าผู้พิพากษาทุกท่านต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากอคติ ใช้ดุลยพินิจเพื่อออกคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีต่าง ๆ โดยชอบตามกรอบแห่งกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซงทั้งภายในและภายนอกองค์กร สำหรับขั้นตอนการขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาก็จะดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกจากนั้นผู้พิพากษายังอยู่ในกรอบจริยธรรมและการดำรงตนตามประมวลจริยธรรมของผู้พิพากษา ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม การใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาในทุกเรื่องต้องมีเหตุผลตามหลักกฎหมายที่สามารถอธิบายให้กับคู่ความทุกฝ่ายได้ชัดเจน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาก็จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีของคู่ความทุกฝ่าย โดยเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว หากคู่ความไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานภายในตามหลักสากลดังนั้นกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวต่าง ๆ
"ในช่วงนี้ ขอให้ทุกฝ่ายต่างเข้าใจถึงหลักการทำงานของผู้พิพากษาและศาล ไม่ควรดึงศาลเข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นข้อขัดแย้งไม่ว่าทางใดทางหนึ่งหรือไม่ควรผลักให้ศาลไปเป็นคู่กรณีกับคู่ความเสียเอง การตั้งคำถามหรือข้อสงสัยจากการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกโดยปราศข้อความจริง ย่อมบั่นทอนและทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของศาลไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลื่อออนไลน์มักใช้ถ้อยคำที่เกินเลย ไม่เหมาะสม และหยาบคาย อันเป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา หากปรากฎว่ามีกรณีที่ข้อมูลบิดเบือน คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรหรือบุคคลใด ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในทางกฎหมาย" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
นายพงษ์เดช กล่าวด้วยว่า ผู้พิพากษาและศาลยุติธรรมยอมรับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตจากประชาชนและสังคม ด้วยความอดทนอดกลั้นและมีวุฒิภาวะ ผู้พิพากษาและศาลจะไม่ออกมาตอบและอธิบายโดยไม่จำเป็น เพราะเข้าใจว่าอาจทำให้มีลักษณะเป็นการตอบโต้และก่อให้เกิดข้อโต้แย้งกันจนศาลกลายเป็นคู่ความเสียเอง หากเกิดสภาพการณ์ดังกล่าวสังความย่อมวุ่นวายและปราศจากความสงบ
"จึงอยากเรียนยืนยันให้ประชาชนและสังคมทั่วไปได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งตรงกันว่า ศาลและผู้พิพากษาจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรม ตลอดมาและยังคงปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปไม่ว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดก็ตามความเป็นกลางในหลักกฎหมายยังคงมีอยู่เสมอ" นายพงษ์เดช กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage