ตม.ทลายเครือข่ายขนโรฮีนจาซุกบ้านย่านดอนเมือง เผยสถิติ 5 ปี เอาผิดตำรวจพัวพันขนแรงงานต่างด้าวดำเนินคดีอาญา 6 นาย ทางวินัย 49 นาย
เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 27 มกราคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รองผบช.สตม. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายขนแรงงานข้ามชาติทลายเครือข่ายขนโรฮีนจา
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กมราคม ที่ผ่านมา บก.ตม.1 ได้สืบสวนทราบว่า มีคนต่างด้าวคล้ายโรฮีนจาเข้ามาพักอาศัยอยู่ใน บ้านเลขที่ 121/1 ม.1 ซ.เชิดวุฒากาศ 9/1 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กทม. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กรมควบคุมโรคเข้าตรวจสอบพบภายในบ้านหลังดังกล่าว มีกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (โรฮีนจา) จํานวน 19 ราย หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยพบว่าในกลุ่มดังกล่าวมีแรงงานที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวกกว่า 7 ราย ทําให้ต้องกักตัวทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานจํานวนหนึ่ง ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า เป็นกลุ่มที่เดินทางจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เข้ามาประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ อ.แม่สอด จ.ตาก แล้วลักลอบเดินทางจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าสู่ที่เกิดเหตุโดยมีคนไทยและคนต่างชาติให้การช่วยเหลือฯ และ รับผลประโยชน์ในกรณีดังกล่าว ชุดสืบสวน สตม.จึงได้ดําเนินการสืบสวนขยายผลและรวบรวมพยานหลักฐานในกรณีดังกล่าวจนพบว่า กลุ่มขบวนดังกล่าวเป็นแก๊งค์ขนแรงงาน นําโดย เจ๊ดา บุคคลสัญชาติเมียนมา ซึ่งถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ และนายอุสเซ็น หรือบาบู ซามิ สัญชาติเมียนมา เป็นตัวการร่วมกับพวกซึ่งเป็นคนไทยและอดีตข้าราชการกระทําความผิด จึงได้รวบรวม พยานหลักฐานจนกระทั่งศาลอนุมัติหมายค้นและหมายจับกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวต่อว่า จากนั้นวันที่ 25 มกราคม เวลา 06.30 น. เจ้าหน้าตำรวจที่ได้นํากําลัง พร้อมหน่วยงานร่วมและหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ตรวจค้นพร้อมกันในพื้นที่ 5 จังหวัด ดังนี้ 1. พื้นที่ จ.ตาก มีเป้าหมายตรวจค้น 2 จุด คือ 1.บ้านเลขที่ 81/2 สองแคว 1 ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก และ2.บ้านเลขที่ 137 ม.5 บ้านหนองกิ่งฟ้า ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก มีผลการปฏิบัติสามารถจับกุม ผู้ต้องหา 3 ราย ได้แก่ 1.นายณัฐกร อิสแมน พร้อมของกลางรถยนต์ กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ สีบรอนซ์ ทะเบียน กค 7398 ตาก (รถขน)
2. พลตำรวจสำรองนภวัต หรือศราวุธ จินดา ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตํารวจถูกจับและไล่ออกเมื่อปี 2555 และเพิ่งพ้นโทษเมื่อปี 2562 พร้อมของกลางรถยนต์ กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นรีโว่ ทะเบียน บน 4826 ตาก (รถนํา) 3. นายวิเชษฐ์ สุขศรี พร้อมของกลางรถยนต์ กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น วีโก้ สีบรอนซ์ ทะเบียน กค 7398 ตาก (รถขน)
2.พื้นที่ กทม. ตรวจค้นบ้านเลขที่ 11/192 ซอยช่างอากาศอุทิศ 12 แขวง/เขตดอนเมือง กทม. ผลการตรวจค้นจับกุม น.ส.ศิริพร บัวพิมพ์ ภรรยาของนายบาบู และตรวจยึดสมุดบัญชีและโทรศัพท์ไว้เพื่อ ตรวจสอบ 3.ในพื้นที่จ.ปทุมธานี ตรวจค้นบ้านเลขที่ 16/09602 และเลขที่ 16/09603 บ้านเอื้ออาทร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผลการตรวจค้น เก็บหลักฐานข้อมูลโทรศัพท์มือถือ และสมุดบัญชี ธนาคารเพื่อสืบสวนขยายผล
4.พื้นที่ จ.นราธิวาส ตรวจค้นบ้านเลขที่ 198/54 หมู่บ้านเนเจอร์โฮม หมู่ 5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย โดยได้ตรวจสอบเก็บหลักฐานข้อมูลโทรศัพท์มือถือ และสมุดบัญชีธนาคารเพื่อทําการสืบสวนทางเทคนิคและการสื่อสาร เส้นทางการเงิน
5.พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ตรวจค้นเป้าหมายห้องเช่าซึ่งเช่าไว้เพื่อให้คนต่างด้าวพักอาศัย 3 แห่ง ได้แก่ เลขที่ 548/5 ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีศรีธรรมราช, เลขที่ 43/4 ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ,เลขที่ 424/1 ม.7 ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ผลการตรวจค้นได้จับกุมผู้ต้องหาจํานวน 2 ราย ได้แก่ นายละมอ สัญชาติเมียนมา และนายมอ มอ ทุย สัญชาติเมียนมา พร้อมกับได้ตรวจยึดรถจักรยานยนต์ 2 คัน และอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยเหลือคนต่างด้าวให้หลบหนีจากที่กักตัว ได้แก่ ประแจเบอร์ 19 แม่กุญแจยี่ห้อ ASCC มีร่องรอยถูกงัดจนหัก และสมุดบัญชีธนาคาร
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวอีกว่า สรุปผลการปฏิบัติ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 7 ราย และยึดของกลางเป็นรถยนต์จํานวน 5 คัน พร้อมด้วยโทรศัพท์มือถือและบัญชีธนาคารจํานวนหนึ่ง และจะได้ดําเนินการสืบสวนขยายผล เพื่อดําเนินการกับผู้กระทําความผิดและเครือข่ายที่ยังหลบหนีต่อไป ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าเจ๊ดา เป็นผู้เชื่อมโยงเครือข่ายขนแรงงานเข้ามาจากแม่สอดมาในพื้นที่ชั้นใน พบมีเส้นทางการเงินหมุนเวียนอยู่ในบัญชี 10-20 ล้านบาท และอยู่ระหว่างตรวจสอบความเชื่อมโยงเส้นทางการเงินเพิ่มเติม ว่ามีเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอื่นอีกหรือไม่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้คณะทํางานสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการกระทําความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายสํานักงานตํารวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีแผนการปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้ 1. บูรณาการด้านการข่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตํารวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง แรงงาน และสาธารณสุข ตลอดจนภาคประชาชน 2.ร่วมกันสกัดกั้นตามแนวชายแดน ตั้งด่านสกัดกั้นเป็นใยแมงมุมป้องกันการลักลอบการนําพาบุคคล ต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน และบูรณาการข้อมูลการตรวจสอบแรงงานต่าวด้าวในพื้นที่ชั้นใน 3.สืบสวนปราบปราม จับกุมขบวนการเครือข่ายนายหน้าเถื่อนที่ลักลอบนําบุคคลต่างด้าวเข้ามาใน ราชอาณาจักร สอบสวนขยายผลขบวนการนําพาคนต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ที่เคยมีพฤติการณ์กระทําความผิดในห้วงที่ผ่านมาและที่ดําเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยอาศัยฐานข้อมูลร่วมกัน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยผลการปฏิบัติในภาพรวมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 - 2563 เป็นดังนี้ ในปี พ.ศ. 2562 หลบหนีเข้าเมือง 208,791 นำพาฯ 206 ช่วยเหลือฯ 580 ปี พ.ศ. 2563 หลบหนีเข้าเมือง 68,942 นำพาฯ 312 ช่วยเหลือฯ 684 และผลการปฏิบัติในภาพรวมของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ คณะทํางานสืบสวนปราบปรามเครือข่าย การกระทําความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตั้งแต่ 1 - 25 มกราคม 2564 ดังนี้ การดําเนินการ มีผลการจับกุมต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 266 ราย ผลการจับกุมผู้นําหรือพาคนต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย 16 ราย ผลการจับกุมผู้ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น คนต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย 62 ราย ระดมกวาดล้างขบวนการนําพาแรงงานต่างด้าว ตามหมายจับ(CCOC) 19 หมาย สืบสวนขยายผลขบวนการ/เครือข่าย นําพาแรงงานต่างด้าว มากกว่า 5 ขบวนการ/เครือข่าย
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า หลังตนได้สั่งการตามวิทยุ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.33/133 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 มอบหมาย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติจํานวน 8 นาย ควบคุม กํากับ ดูแลการปฏิบัติของตํารวจภูธรภาค 2 - 9 และสั่งการให้กองบังคับการ และตํารวจภูธรจังหวัด วิเคราะห์ข้อมูลการกระทําความผิด เส้นทางเข้าออกตามแนวชายแดน จัดทําแผนปฏิบัติการสกัดกั้นคนต่างด้าว หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยนําข้อมูลแผนที่สถานการณ์ มาตรการรองรับเพื่อสกัดกั้นการหลบเลี่ยง จุดตรวจเส้นทางหลัก และนําอุปกรณ์ช่วยตรวจสอบ อาทิ กล้องวงจรปิด ระบบ License plate ระบบ Face recognition โดยให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยร่วมปฏิบัติ ตั้งด่านสกัดเป็นใยแมงมุม ให้ครอบคลุม ทุกเส้นทาง/พื้นที่ และได้มี วิทยุ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.22/231 ลง 22 ม.ค.64 กําชับการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม ขบวนการนําพาแรงงานต่างด้าว และอบายมุข เป็นมาตรการสําคัญที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจะต้องตระหนักและมีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของของไวรัส โควิด 19 ระลอกใหม่ ซึ่งมีกระบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่มาทาง จ.กาญจนบุรี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในครั้งนี้
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า คณะทํางานสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ลงพื้นที่ตรวจค้นและตรวจสอบร่วมกับ ตํารวจภูธรภาค 7 พบว่ามีขบวนการขนแรงงานต่างด้าว โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จํานวน 37 นาย มีทั้งเข้าข่ายถูกดําเนินการทางอาญา ทางวินัยและทางปกครอง ทั้งนี้สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ ดําเนินการกับข้าราชการตํารวจที่มีส่วนพัวพันกับขบวนการขนแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ปี 2558 - 2563 แบ่งเป็น ดําเนินคดีอาญา 6 นาย และดําเนินการทางวินัย 49 นาย นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะฯ และมี พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ เป็นผู้กํากับควบคุมดูแล โดยคณะตรวจสอบนี้จะมีจเรตํารวจและคณะพนักงานสอบสวนจากส่วนกลางร่วมเป็นคณะตรวจสอบ ลงไป ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งด้วย เพื่อความโปร่งใสซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นนี้ จะทํางานควบคู่และสอดรับกับคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/