ธปท.จับมือ 'สำนักงานศาลยุติธรรม' เซ็นเอ็มโอยูจัดทำมาตรฐานกลาง 'ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง' กรณี 'สินเชื่อส่วนบุคคล-หนี้บัตรเครดิต-กยศ.-เช่าซื้อ-กู้ยืม' เพิ่มช่องทาง 'ไกล่เกลี่ยออนไลน์' ตั้งเป้าปี 64 ไกล่เกลี่ยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคดี
..................
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs และวิกฤตรอบนี้มีผลกระทบในวงกว้าง ต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด 19 จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยลดภาระของลูกหนี้ อาทิ การเลื่อนชำระหนี้ และขยายงวดการชำระหนี้ รวมถึงการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อช่วยประคับประคองให้ลูกหนี้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้
อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง การมีกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สินโดยไม่ต้องเข้าไปสู่กระบวนการศาลที่ต้องใช้เวลานานและซ้ำเติมปัญหาให้กับลูกหนี้มากขึ้น
ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมและ ธปท. เห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ให้ลูกหนี้สามารถฟื้นฟูฐานะทางการเงินได้อย่างแท้จริง
"ในวันนี้ (26 ม.ค.) ทั้งสองหน่วยงานจึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีผู้บริโภค อาทิ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ การกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงินของลูกหนี้แต่ละราย และมีขั้นตอนกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มความรู้ความชำนาญด้านการเงินให้กับผู้ไกล่เกลี่ยของศาล เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่ลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่สองหน่วยงานต้องการให้เกิดขึ้น" นายเศรษฐพุฒิระบุ
ที่ผ่านมา การใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติคดีความยังมีข้อจำกัด ทำให้กลไกอาจจะยังไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเต็มที่ ส่วนหนึ่งเพราะข้อเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้มักไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงจนสิ้นสุดสัญญาได้ ในครั้งนี้ ธปท. จึงจะเข้าไปช่วยจัดทำข้อตกลงที่จะใช้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้ผู้ไกล่เกลี่ยนำไปใช้ในกระบวนการเจรจาต่อไป มีลักษณะคล้ายกับที่ ธปท. ได้ดำเนินการหาข้อตกลงที่เป็นมาตรฐานกลางเพื่อแก้ไขหนี้บัตรของคลินิกแก้หนี้
ธปท. คาดว่าประชาชนโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการในครั้งนี้ โดยลูกหนี้จะมีบทบาทในกระบวนการเจรจามากขึ้น เมื่อลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาหนี้กันได้ ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสู้คดี สามารถประกอบธุรกิจหรือทำงานต่อไปได้ ในขณะที่เจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากการได้รับชำระหนี้คืน เพราะลูกหนี้จะยังผ่อนชำระหนี้ได้ต่อเนื่องตามความสามารถ โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องบังคับคดี และสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม และช่วยให้เศรษฐกิจมีความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลนี้ มีขั้นตอนสะดวกไม่ยุ่งยาก มีคนกลางเข้ามาช่วยเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่ปฏิบัติได้ รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถ้าเป็นการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิดที่การเดินทางติดต่ออาจไม่สะดวก ยังสามารถใช้ช่องทางไกล่เกลี่ยออนไลน์ได้ด้วย
สำหรับเป้าหมายในปี 2564 ธปท. และพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ จะร่วมมือกันเพื่อให้สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งในระบบการเงินได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคดี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของคดีผู้บริโภคในปี 2562 โดยจะเน้นคดีที่มีการฟ้องร้องสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต กู้ยืม เช่าซื้อและหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยใหม่ที่ผนวกกับการปรับปรุงดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ผ่านมา จะช่วยปรับโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ในระบบการเงินให้สมดุลขึ้น และลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาล ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ให้มีน้อยที่สุด
ธปท.ระบุด้วยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ "การปรับปรุงและยกระดับกลไกการไกล่เกลี่ยที่ครอบคลุมตลอดกระบวนการ" ทั้งในช่วงก่อนฟ้อง หลังฟ้อง หลังศาลพิพากษา และชั้นบังคับคดี เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการทำ MOU กับกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมา สำหรับรูปธรรมสำคัญของการไกล่เกลี่ยหนี้ที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือ การไกล่เกลี่ยหนี้บัตร
โดย ธปท. จะร่วมกับผู้เกี่ยวข้องจัด "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล" ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ความพิเศษของงาน คือ การไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในชั้นบังคับคดี ซึ่งปกติเมื่อคดีดำเนินมาถึงจุดนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ในครั้งนี้เจ้าหนี้จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้บัตรในชั้นบังคับคดีเข้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง ด้วยสถานการณ์โควิด 19 มหกรรมไกล่เกลี่ยที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นรูปแบบไกล่เกลี่ย "ออนไลน์" โดย ธปท. จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจทราบถึงช่องทางและวิธีการโดยละเอียดผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. www.bot.or.th ในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันและจะเป็นกลไกที่สามารถใช้ต่อไปได้ในภาวะปกติด้วย การผนึกกำลังกับเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสร้างวัฒนธรรมการไกล่เกลี่ยในระบบการเงินของไทย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันสร้างอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ธปท. จะขับเคลื่อนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้ในส่วนอื่นต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/