มศว. ร่วมกับม.นวมินทรฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 'ประหยัด ใช้งานง่าย ให้ผลเร็ว' รู้ผลภายใน 90 นาที ลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์
..............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 64 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานแถลงข่าวออนไลน์ ชุดตรวจโควิด-19 แบบขั้นตอนเดียว รู้ผลภายใน 90 นาที (ชุดตรวจสำหรับค้นหายีนเชื้อไวรัส SAR-CoV2 ที่ก่อโรคโควิด-19 แบบขั้นตอนเดียว) 'ประหยัด ใช้งานง่าย ให้ผลเร็ว' โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและบริษัท ไบโอแอดแวนเทค จำกัด ภายใต้ทุนการสนับสนุนโครงงานกิจกรรมสนับสนุนเพื่อเร่งการนำผลงานวิจัยมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินต้านไวรัสโควิด-19 จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยมี รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, รศ.ดร.ธงชัย แก้วพินิจ หัวหน้าโครงการวิจัย, และ นายพิสุทธิ์ พัฒนาอุตสาหกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไบโอแอดแวนเทค จำกัด ร่วมการแถลง ณ สตูดิโอ ชั้น 4 อาคารวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในการตรวจเชื้อโควิด 19 แบบเดิม ปัญหาหลักคือน้ำยาและเครื่องมือที่ใช้ตรวจมีราคาค่อนข้างสูง และต้องรอผลตรวจประมาณ 3-5 ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ระยะเวลาในการเตรียมการรักษาค่อนข้างช้า แต่ชุดตรวจที่มีการร่วมมือพัฒนานี้สามารถตรวจและรู้ผลได้ภายใน 90 นาที ทำให้สามารถจัดระเบียบผู้เข้ารับการตรวจหรือผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยมีการนำชุดตรวจนี้ไปใช้กับตัวอย่างเชื้อจริงที่เก็บจากผู้ป่วย จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พบว่ามีค่าความไวถึงร้อยละ 97 และมีค่าความจำเพาะถึงร้อยละ 100 เนื่องจากชุดการตรวจนี้ เป็นการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส
รศ.ดร.ธงชัย แก้วพินิจ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ชุดตรวจโควิด 19 ดี-เทค (Covid 19 D-Tect) มีขั้นตอนเพียง 4 ขั้นตอน หลังจากเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยแล้ว ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ผสมน้ำยากับตัวอย่างเชื้อ
ขั้นตอนที่ 2 บ่มปฎิกริยาที่อุณหภูมิ 61 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนที่ 3 เติม buffer และจุ่มแผ่นทดสอบ
ขั้นตอนที่ 4 อ่านผลทดสอบ - 2 ขีด คือ ติดเชื้อโควิด, 1 ขีด คือไม่ติดเชื้อ
นายพิสุทธิ์ พัฒนาอุตสาหกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไบโอแอดแวนเทค จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทสามารถผลิตชุดตรวจนี้ได้ทันที แต่ปัจจุบันกำลังรอการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในเดือนนี้ โดยกำลังผลิตในรอบแรกเตรียมการไว้ประมาณ 500,000 ชุดต่อเดือน หรือประมาณ 16,000-17,000 ชุดต่อวัน
รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ชุดตรวจโควิด 19 ดี-เทค (Covid 19 D-Tect) ยังไม่สามารถซื้อมาตรวจหาเชื้อเองได้ ยังคงต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ตรวจ แต่ในอนาคตคิดว่าจะมีการพัฒนาทำให้ชุดตรวจนี้สามารถตรวจเชิงรุกในชุมชน รวมถึงชุดตรวจบุคคลในอนาคต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ศูนย์สารสนเทศและการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (PRSWU)