สปสช.จับมือโรงพยาบาล 15 แห่ง นำร่องจ่ายค่าบริการ Telehealth/Telemedicine เฟสแรก เพื่อลดระยะห่างทางกายภาพและลดความแออัดในโรงพยาบาล รับมือสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี
.................................
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งในไทยเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 และเริ่มระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพและจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่เน้นรักษาระยะห่างทางกายภาพในทุกๆกิจกรรมในสังคม ตลอดจนสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ในช่วงปีที่ผ่านมา สปสช. ได้สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมบริการของหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างและลดความแออัดในโรงพยาบาลซึ่งเป็นอีกจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ โดยได้ทำการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในหน่วยบริการที่มีความโดดเด่นในการจัดบริการแบบ New Normal รวบรวมข้อมูลและนำกลับมาพัฒนาระบบการจ่ายเงินที่สนับสนุนให้เกิดบริการในลักษณะนี้ในวงกว้างมากขึ้น
นพ.จักรกริช กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ หนึ่งในรูปแบบบริการที่ สปสช.ได้พัฒนาการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเว้นระยะห่างทางกาย ลดการเดินทางและลดความแออัดในโรงพยาบาลคือบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth / Telemedicine) โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องให้บริการระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา และมีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการในขณะนี้ 15 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ตลอดจนโรงพยาบาลอื่นๆที่มีความพร้อมในเขตสุขภาพที่ 1-12 ประกอบกับในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการระบาดรอบใหม่ ทำให้ระบบดังกล่าวจะเป็นทางเลือกช่วยสนับสนุนให้มาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นขอแนะนำให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองติดต่อสอบโรงพยาบาลที่ตนรับบริการ เพื่อสอบถามข้อมูล หรือแสดงความจำนงค์เข้ารับบริการสาธารณสุขระบบทางไกลได้ตามต้องการ
"ในส่วนของการบริการสาธารณสุขระบบทางไกลหรือที่เรียกสั้นๆว่า Telehealth/Telemedicine นี้ เราจะเน้นที่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าในหน่วยบริการที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี ซึ่งแพทย์สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาหาถึงโรงพยาบาล ยิ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย การรับบริการผ่านระบบ Telehealth/Telemedicine จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งระหว่างการเดินทางหรือการติดเชื้อจากผู้ป่วยด้วยกันเองที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัด ทำให้การรักษาระยะห่างในพื้นที่โรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย"นพ.จักรกริช กล่าว
นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของขั้นตอนการรับบริการผ่านระบบดังกล่าวนั้น ในขั้นแรกทางแพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่ามีอาการคงที่ พร้อมที่จะรับการรักษาผ่านระบบ Telehealth/Telemedicine หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะแจ้งให้ทราบและสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นพยาบาลจะติดต่อชี้แจงข้อตกลง วิธีการตรวจทางไกลและนัดหมายผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆที่รองรับได้ จากนั้นดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่โรงพยาบาลกำหนดมาไว้ในเครื่อง การรับบริการทางเจ้าหน้าที่จะทำการยืนยันตัวตนผู้ป่วย ตรวจสอบสิทธิการรักษา จัดเตรียมประวัติการรักษาและนัดหมายเวลาพบแพทย์ให้ เมื่อถึงเวลานัดก็ทำการเชื่อมต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากจำเป็นต้องรับยาด้วย ทางโรงพยาบาลก็จะมีระบบการจัดส่งยาทางไปรษณีย์หรือแพ็คยาแล้วให้ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าบริการ ซึ่งการไปรับยาที่ร้านยายังมีข้อดีอีกประการคือผู้ป่วยจะมีเวลาพูดคุยรับคำปรึกษาเรื่องยากับเภสัชกรได้นานกว่าที่โรงพยาบาล อีกทั้งเภสัชกรจะช่วยติดตามอาการเบื้องต้นและประเมินผลการทานยาให้อีกทางหนึ่งด้วย
นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการและมีความสนใจที่จะให้บริการ Telehealth/Telemedicine เพื่อลดความแออัดและรักษาระยะห่างทางกายภาพ ทาง สปสช. มีแผนในระยะ 2 จะเพิ่มจำนวนหน่วยบริการให้มากขึ้น เบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขทางไกลตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพประกาศกำหนด มีความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Application ในการพิสูจน์ตัวตน การนัดหมายและการจ่ายเงินที่เชื่อมต่อกับข้อมูลของ สปสช. ได้ มีกระบวนการในการให้บริการสาธารณสุขระบบทางไกลพร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้รับบริการรับทราบก่อนวันรับบริการ มีการบันทึกข้อมูลการให้บริการในทุกกระบวนการขั้นตอนให้สามารถทวนสอบข้อมูลได้ รวมทั้งมีแผนการจัดการความเสี่ยงและควบคุมความผิดพลาดทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทั้งนี้ สปสช.กำหนดอัตราจ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขไว้ที่ 30 บาท/ครั้ง โดยจะตัดข้อมูลทุกสิ้นเดือนและหน่วยบริการจะได้รับการโอนเงินภายใน 30 วันหลังตัดข้อมูล.