ศธ. ย้ำ ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญการ“รับมือ”สถานการณ์โควิด-19 โดยคำนึงถึง “ความปลอดภัยนักเรียน-ผู้ปกครอง-บุคลากรทางการศึกษา” พร้อมปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ระบุขณะนี้ยังคง“เปิด-ปิด”ภาคการศึกษาตามกรอบเวลาเดิม และหาช่องทางหนุนช่วยเหลือครูสอนออนไลน์
.........................................
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา
และจากการหารือกับทีมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ (4 ม.ค.) นายณัฏฐพล กล่าวว่า ได้มีการหารือกันเกี่ยวเรื่องรายละเอียดที่จะตามมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดการเรียนการสอน ที่ต้องมีการปรับแนวทางอะไรบ้าง รวมถึงเรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียน และกาหารือถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในการที่จะสอบเข้าในชั้นเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ม.1 ม.4 หรือการสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัย
“การหารือกันในวันนี้ ก็เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม หลังจากที่ก่อนหน้าได้มีการออกประกาศของกระทรวงศึกษาธิการไปแล้วในหลายเรื่อง โดยพยายามให้มีผลกระทบน้อยที่สุดจากในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโรคระบาดอยู่ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ โดยเรื่องการจัดการเรียนการสอนนั้น อาจจะต้องปรับปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง”
นอกจากนี้ สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเตรียมไว้ต่อ ก็คือ ความลำบากของคุณครูที่จะต้องปรับ ซึ่งอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในบางส่วนที่เกิดขึ้น จากความไม่สะดวก เพราะว่าคุณครูทุกท่าน ไม่ได้มีฐานอยู่ที่โรงเรียนในส่วนของการกระจายข้อมูล หรือการที่จะต้องจัดเตรียม และพิมพ์เอกสาร หรือการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ
“โดยเฉพาะในส่วนการใช้สื่อออนไลน์ต่างนั้น ผมต้องเร่งปรึกษากับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE ว่า จะสามารถช่วยเหลืออะไรตรงนี้ได้บ้าง”
นายณัฏฐพล ยอมรับว่า ในเรื่องของเด็กๆ นั้น แน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อผู้ปกครอง แต่วันนี้ต้องรอฟังจาก ศบค. หากว่ามีการนำเสนอเพิ่มเติมของการสนับสนุนให้มีการ Work From Home ก็น่าจะทำให้ผู้ปกครองมีโอกาสอยู่ที่บ้าน และช่วยๆ กันในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน
“วันนี้ในช่วงเวลาเรียนยังพอรับได้อยู่ ยังไม่มีการเลื่อนปิด-เปิด แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องมาคำนึงถึงการที่จะนำเอาชั่วโมงเรียน เวลาเรียนมาเป็นตัวกำหนดในการปิด หรือว่าได้รับผลการเรียนประจำปีของแต่ละชั้น เพราะในหลายๆ ประเทศ ก็ให้มีการปิดโรงเรียนไป และให้นำผลกลางเทอมมาเป็นผลของนักเรียน หรือว่าอนุมัติให้มีการเลื่อนชั้น หรือว่าจบการศึกษาจากเวลาที่ผ่านไป ซึ่งอันนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะหากมีผลก็อาจจะมีผลกระทบ หรือเด็กๆ ที่อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่จะหลักสิบหลักร้อย เพราะฉะนั้นในภาพรวมยังไม่กระทบในภาพรวมของเด็กๆ ทั้งประเทศ”
จากสถานการณ์โรคระบาดในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมามีการปิดโรงเรียนทั่วประเทศ โดยนักเรียนใช้สื่อการเรียนการสอนผ่าน DLTV 3 ช่อง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อช่องต่อเดือน ส่วนในครั้งนี้ นายณัฏฐพล กล่าวว่า หากเราจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะนำเอางบประมาณดังกล่าว มาใช้ในการที่แก้ปัญหาในส่วนอื่นๆ เพราะวันนี้สถานการณ์ ยังไม่ได้เกิดปัญหาที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นำมาสนับสนุนงบประมาณในการใช้อินเตอร์เน็ตของคุณครู ซึ่งการบริหารจัดการแนวทางนี้ จะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า เนื่องจาก ณ ปัจจุบันเราไม่ได้ปิดทั้งประเทศ ดังนั้นยังไม่เปิด DLTV แต่ว่า DLTV ต้องขอขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือกระทรวงศึกษาธิการมาตลอด และเป็นส่วนสำคัญในการที่จะมอบงานให้เด็กๆ สังเกตดูในประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตอนสุดท้าย จะมีข้อที่แตกต่างจากข้อกำหนดของ ศบค. ในเรื่องของการให้ใบงานและแนวทางที่แน่นอน ต้องพริ้นต์งานจาก DLTV หรือรูปแบบอื่นๆ เพราะฉะนั้น DLTV มีส่วนสำคัญมากในการที่ช่วยเราในอดีตและปัจจุบัน
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล กล่าวถึงการสอบเข้าม.1 และ ม.4 นั้น ขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ตามระยะเวลา ซึ่งจากการหารือกับทีมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้พูดคุยกันถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในการสอบ โดยอาจจะมีการสอบคนละเวลา แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องข้อสอบบ เนื่องจากเด็กนักเรียน อาจจะสอบหลายโรงเรียน ก็จะเป็นแนวทางที่ต้องหารือกันต่อไปใน สพฐ. หรือกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอบ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ได้ทันตามกรอบเวลา