10 ผลงานเด่น “กองทุนบัตรทอง ปี 63” ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19
........................
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ปี 2563 นับว่าเป็นปีแห่งความท้าทายในการบริหารจัดการระบบและงบประมาณ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อย่างไรก็ตาม สปสช. ยังคงมุ่งมั่นบริหารจัดการกองทุนฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับการพัฒนากองทุนฯ ให้ก้าวหน้าและเป็นไปตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการเป็นหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงให้กับคนไทย สะท้อนผ่าน 10 ผลงานเด่น ดังนี้
1.งบกองทุนบัตรทอง ร่วมแก้วิกฤต COVID-19”
ในการร่วมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ของประเทศ งบประมาณ 4,280 ล้านบาท อนุมัติโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จากงบกองทุนบัตรทองและงบกลางเพิ่มเติมจากรัฐบาล ได้ถูกนำมาสนับสนุนการให้บริการสุขภาพที่เกี่ยวกับกรณีโควิด-19 ทั้งรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมตั้งแต่ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ยารักษา ห้องปลอดเชื้อและชุดป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น คัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เป็นการคุ้มครองดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์วิกฤตสุขภาพ
ขณะเดียวกัน สปสช. ได้ปรับระบบบริการและจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อาทิ เปิดให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาและรักษาพยาบาลที่จำเป็นนอกหน่วยบริการประจำชั่วคราว จัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต่อยอดโครงการผู้ป่วยรับยาร้านยา ขย.1 ใกล้บ้าน และระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) เป็นต้น
2.ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่
นโยบายใหม่เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยในปี 2564 นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. มีนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ดังนี้ 1.ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ นำร่อง กทม. 2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องเขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ 3.โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม พร้อมกันทั่วประเทศ และ 4.ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน พร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ ดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
3.ประชุม PMAC 2020 ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นับเป็นเกียรติภูมิประเทศไทยอย่างยิ่ง ด้วยการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 (PMAC 2020) เวทีประชุมระดับโลกด้านนโยบายและการพัฒนาระบบสุขภาพ ได้ขับเคลื่อน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC)” เป็นครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้ PMAC ได้จัดประชุมวิชาการที่ข้องเกี่ยวกับ UHC แล้ว 2 ครั้ง ในปี 2555 หัวข้อ “การเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ” และปี 2559 หัวข้อ “การจัดลำดับความสำคัญของระบบสุขภาพ” โดยไทยถูกยกย่อง 1 ใน 5 ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพดีที่สุดและร่วมผลักดันการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อน UHC ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยากจนและกำลังพัฒนามีความก้าวหน้า ตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ด้วยที่ประเทศไทยโดดเด่นในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ปี 2563 ก่อนช่วงสถานการณ์ COVID-19 มีประเทศต่างๆ เข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ กัมพูชา โมร็อกโก เวียดนาม และแอฟริกาใต้ เป็นต้น
4.รัฐบาลเพิ่มงบกองทุนบัตรทอง ปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2
สปสช. จัดทำข้อเสนองบประมาณดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 เพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยงบที่เพิ่มเติมนอกจากภาวะเงินเพ้อ อัตราค่าครองชีพและเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ได้นำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาและบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 ครม. อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2564 เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 46.7 ล้านคน จำนวน 19.5 แสนล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 19.1 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 3,907 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 โดยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,719.23 บาท/ผู้มีสิทธิ จากปี 2563 อยู่ที่ 3,600 บาท หรือเพิ่มขึ้น 119 บาท/ผู้มีสิทธิ หรือร้อยละ 3.31
5.เพิ่มสิทธิประโยชน์ดูแลประชาชน
ปี 2563 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์หลายรายการ อาทิ 1) การดูแลผู้ป่วยโรคหายากระยะที่ 1 ครอบคลุม 24 โรคจากพันธุกรรมเมแทบอลิกชนิดความผิดปกติของสารโมเลกุลเล็ก 2) เพิ่มค่าบริการไม่ฉุกเฉินรุนแรงนอกเวลา ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการห้องฉุกเฉินในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต 3) เคมีบำบัดที่บ้านนำร่องผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4) ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต รักษาโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) 5) ขยายระบบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิและทุกวัย 6) ยาเพร็พ (PrEP) สำหรับกลุ่มเสี่ยง เป็นการให้ยาก่อนสัมผัสเชื้อ 7) วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตาในทารกอายุ 2-6 เดือน 8) เคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปี และเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปี และ 10) คัดกรองมะเร็งปากมดลูกวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test)
นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ใหม่และเพิ่มเข้าถึงบริการปี 2564 ดังนี้ 1.ผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย 2.เพิ่มรายการยารักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี 3. ตรวจคัดกรองยีนส์ HLA-B*5801 ก่อนเริ่มยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ 4. เพิ่มอุปกรณ์ ECMO ในการรักษาภาวะหัวใจ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน 5. คัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม วิธี CXR + Molecular test 6.คัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง 7.ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กที่มีภาวะหูหนวก 8. เพิ่มการเข้าถึงบริการฟอกไตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี 9. บริการตรวจห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ และ 10 เห็นชอบเตรียมงบประมาณรองรับการใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และไมเกรน และสารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคลมชักและมะเร็งระยะท้าย
6.ส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ต่อยอดรับยาร้านยาใกล้บ้าน
เพิ่มบริการใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับผู้ป่วย ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดย สปสช. จับมือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) สนับสนุนจัดบริการ “ส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน” เริ่มวันที่ 1 เมษายน 2563 และขยายโครงการต่อเนื่องถึงปัจจุบัน พร้อมลงนามความร่วมมือภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ทางไปรษณีย์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่าง สปสช. และ ปณท. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 เพื่อเพิ่มมาตรฐานบริการจัดส่งยาให้ถึงมือผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ
สนับสนุนบริการ “ผู้ป่วยรับยาร้านยา ขย.1 ใกล้บ้าน” สปสช. เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มุ่งลดเวลารอคอยผู้ป่วยและความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเกินจากเป้าหมายตั้งไว้ มีโรงพยาบาลเข้าร่วม 130 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง ร้านยา 1,030 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง ขณะที่ผู้ป่วยรับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับเป็นบริการทางเลือกใหม่ให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง
7. กปท. รุกป้องกันและควบคุมโควิด-19
สปสช. ปรับหลักเกณฑ์สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือ กปท. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้อำนาจประธานกรรมการกองทุนฯ อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขกรณีเกิดการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อโครงการ ส่งผลให้มี อปท. ทั่วประเทศร่วมจัดทำโครงการต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น อาทิ ทำหน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน สอนทำเจลล้างมือ และรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันโรคให้กับประชาชน เป็นต้น โดยเป็นหนึ่งในกลไกลที่มีศักยภาพช่วยสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ของประเทศ
8. เพิ่มศักยภาพบริการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองด้วยเทคโนโลยี
เป็นปีที่ สปสช. นำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศและการสื่อสารมาร่วมพัฒนาระบบบริการและปรับการบริการตามวิถีชีวิตยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ทโฟน เพิ่มความสะดวกเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น เริ่มจาก “ระบบสาธารณสุขทางไกล” (Telehealth / Telemedicine) ที่นำร่องปีนี้ ผ่าน Video Call บนสมาร์ทโฟนเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อ พร้อมส่งยาทางไปรษณีย์โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล
การพัฒนาแอปพลิเคชัน สปสช. ให้ประชาชนลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำด้วยตนเอง พัฒนาระบบจองสิทธิและนัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าในพื้นที่ กทม. ผ่านช่องทาง Line : @ucbkk และเพิ่มช่องทางเข้าถึงสิทธิและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่าน Health Wallet หรือ กระเป๋าตังสุขภาพ แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจับมือกับธนาคารกรุงไทย ลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ในการดำเนินงานร่วมกัน
นอกจากนี้ สปสช. ได้จับมือ บริษัทอินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ลงนามความร่วมมือให้บริการข้อมูลสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านสื่อสังคมออนไลน์ “เว็บไซต์ Pantip” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ชัดเจนถูกต้องสู่ประชาชน
9.เพิ่มหน่วยร่วมบริการบัตรทอง
พัฒนาการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานตามวิชาชีพ บริการใกล้บ้านใกล้ใจ ในปี 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับ “สภาการพยาบาล” เพิ่ม “คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์” เป็นหน่วยบริการร่วมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำร่องพื้นที่ กทม. เน้นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น เช่น ฉีดยา ทำแผล เปลี่ยนสายให้อาหาร และบริการเยี่ยมบ้านดูแลสุขภาพผู้ป่วยร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
เพิ่ม “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับรอง และสถานบริการอื่นที่เข้าเกณฑ์ สปสช. ร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยเป็นข้อเสนอเวทีรับฟังความเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการประสานงานร่วมกับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย และเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ
10.ขยายความร่วมมือดูแลคนไทยมีปัญหาสถานะทางทะเบียน
ลงนามความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน” ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สปสช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อขยายการดูแลด้านสุขภาพให้ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม