DSI ขยายผลอายัดทรัพย์ในความผิดฐานฟอกเงิน คดีเกี่ยวเนื่องฉ้อโกง แชร์ลูกโซ่ เช่าตู้คอนเทนเนอร์ 26 รายการ กว่า 154 ล้านบาท ที่ดิน 44 แปลง บ้าน รถยนต์ เงินฝาก มือถือ อาวุธปืน
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) 23 ธ.ค.2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่ข่าวว่า ตามที่ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินคดีความผิดมูลฐานคดีพิเศษที่ 100/2558 กรณี หลอกลวงให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 12, 15 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 3 จำคุกคนละ 5 ปี รวม 2,540 กระทง เป็นจำคุก 12,700 ปี ความผิดกระทง ที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้จำคุกคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) กับให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละราย นำเงินมาลงทุนและยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง คดียังไม่ถึงที่สุด อยู่ระหว่างอุทธรณ์
ต่อมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้ดำเนินการในความผิดฐานฟอกเงินซึ่งเป็นคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันในคดีพิเศษที่ 67/2562 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว พบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้นำเงินที่ได้จากการกระทำผิด เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ แล้วซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน โดยมีบุคคลที่มีพฤติกรรมอันควรสงสัย เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันเชื่อว่าเป็นการหลีกเลี่ยง โอน หรือรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาหรือปกปิดแหล่งที่มา จำหน่าย โอน การได้สิทธิ ใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวอันเป็นเงินหรือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิด จากการตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลรายงานการเคลื่อนไหวทางการเงินพบว่ามีการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ปรากฏการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยผู้ต้องหาได้นำเงินที่เชื่อว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงในช่วงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ถึง 25 เมษายน 2558 ไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ รวมมูลค่า 154,090,226 บาท
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ออกหมายจับ จำนวน 6 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา จำนวน 19 ราย นิติบุคคล จำนวน 1 ราย โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 26 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่อายัด ประมาณ 154,090,226 บาท ได้แก่
1. โฉนดที่ดิน 44 แปลง มูลค่าประมาณ 114,857,000 บาท
2. อาคารพาณิชย์ จำนวน 6 คูหา มูลค่าประมาณ 30,000,000 บาท
3. บ้านเดี่ยว มูลค่าประมาณ 3,500,000 บาท
4. บัญชีเงินฝาก จำนวน 36 บัญชี รวมประมาณ 2,932,766 บาท
5. เงินสด 1,191,000 บาท
6. เงินดอลล่าร์ 660 ดอลล่าร์ มูลค่าประมาณ 20,460 บาท
7. ทองคำน้ำหนัก 4.5 บาท มูลค่าประมาณ 99,000 บาท
8. รถยนต์ 2 คัน มูลค่าประมาณ 1,200,000 บาท
9. จักรยานยนต์ 1 คัน มูลค่าประมาณ 30,000 บาท
10. อาวุธปืน 2 กระบอก กระสุน 24 นัด มูลค่าประมาณ 220,000 บาท
11. โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง มูลค่าประมาณ 40,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและการเยียวยาผู้เสียหายทางคดี ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ จะได้จัดตั้งส่วนปฎิบัติการเพื่อติดตามทรัพย์ฯ ตามความผิด พระราชกำหนดการ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และความผิดต่อเนื่องเกี่ยวพันฐานฟอกเงิน เพื่อดำเนินการ กับกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าว ควบคู่กับการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป