แอมเนสตี้แถลงเรียกร้องให้กัมพูชาเพิ่มความพยายามในการสืบสวนกรณีวันเฉลิมและแก้ไขปัญหาการสอบสวนที่ล่าช้า
................................
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยทนายความชาวกัมพูชาและล่ามแปลภาษาไทย-เขมรได้ ให้การทางวาจาและส่งเอกสารแปลไทย-เขมรจำนวนรวม 177 หน้าให้การกับตุลาการผู้ไต่สวนคดี ศาลกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา คดีนี้เป็นคดีอาญาหมายเลข 4832 ในคดีที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทย ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธบังคับขึ้นรถยนต์และหายไป เหตุเกิดกลางกรุงพนมเปญ เวลาบ่ายสี่โมงเศษเมื่อวันที่ 4มิถุนายน 2563 จนถึงบัดนี้
ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงในวันนี้ว่า ทางการกัมพูชาต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า ในการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจากไทย
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมวัย 37 ปี ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายลักพาตัวไปจากอพาร์ตเมนต์ของเขาในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนปีนี้ โดยก่อนหน้านี้เขาถูกออกหมายจับโดยทางการไทย จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย
สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม อยู่ระหว่างการเข้าให้การกับผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงพนมเปญในวันนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนของทางการกัมพูชาในกรณีนี้
กว่าหกเดือนนับแต่การหายตัวไป ทางการกัมพูชารายงานความคืบหน้าของการสอบสวนเพียงเล็กน้อย แม้ว่ามีหลักฐานสำคัญที่มีรายงานต่อสาธารณะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม
“ข้อบกพร่องชัดเจนของการสอบสวนครั้งนี้จนถึงปัจจุบันทำให้เห็นว่า กัมพูชาอาจไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะจัดให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ”
“การสอบสวนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และดูเหมือนว่ามีการเพิกเฉยต่อพยานหลักฐานสำคัญ ทางการกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นอาจมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างสุจริตใจหรือไม่” ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการกัมพูชา ให้แก้ไขปัญหาการสอบสวนที่ชัดเจนนี้อย่างเร่งด่วน ให้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่มีเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมโดยทันที และประกันให้เกิดความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยากับวันเฉลิมและครอบครัวของเขา
ความล้มเหลวของทางการกัมพูชาในการดำเนินงานให้เกิดความก้าวหน้าด้านการสอบสวนอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดคำถามว่า ได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบสวนตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (CED) ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีหรือไม่
อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/latest/news/871/