นักเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ หนุนเดินหน้า ‘โครงการคนละครึ่ง’ ระบุ เป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เม็ดเงินลงถึงผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รุนแรง เสนอรัฐคลอดมาตรการเพิ่มเติม โฟกัสธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ชงปล่อยสินเชื่อ-ช่วยจ่ายค่าแรงลูกจ้าง ต่อลมหายใจกิจการขนาดเล็ก
..........................
ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับทุกคนในระดับที่เท่ากัน แต่ผลกระทบหลักกระจุกอยู่กับภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ค้าส่ง-ค้าปลีก โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือคนตัวเล็ก กลุ่มผู้ค้ารายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีความสามารถและทรัพยากรในการข้ามผ่านวิกฤตได้น้อยกว่าผู้ค้ารายใหญ่
ทั้งนี้จึงมองว่าโครงการคนละครึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นออกแบบมาค่อนข้างดี สามารถจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายได้จริง เพราะผู้ซื้อจะรู้สึกว่าราคาสินค้าถูกลงครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันด้วยข้อกำหนดที่ไม่เปิดให้กิจการรายใหญ่เข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้เม็ดเงินกระจายลงสู่กิจการรายย่อยได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการคนละครึ่งค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ส่วนสำคัญเป็นเพราะการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต ซึ่งนโยบายจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในสภาวะปกติ โดยมีการศึกษาของต่างประเทศที่ยืนยันว่าในช่วงปกติ การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 บาท จะส่งผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.7 บาท แต่ในช่วงวิกฤตหรือช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 บาท จะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนเพิ่มเติมถึง 1.8-2.2 บาท ฉะนั้นประสิทธิภาพของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการออกมาตรการ
“เมื่อเทียบกับมาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” ที่ออกในช่วงสถานการณ์ปกติ ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำแต่ก็ยังเป็นบวก ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก ขณะที่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แม้ว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับธุรกิจท่องเที่ยวจริง แต่กลับพบว่าส่วนลด 40% ทำให้ราคาของโรงแรมขนาดใหญ่จูงใจมากกว่าโรงแรมขนาดเล็ก สุดท้ายจึงเกิดผลกระทบข้างเคียงที่รัฐไม่ได้ตั้งใจ คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะได้เปรียบมากกว่า” ผศ.ดร.ภาวิน กล่าว
ทั้งนี้ โดยสรุปแล้วจึงเชื่อว่าโครงการ “คนละครึ่ง” ถูกออกแบบมาได้ดี เป็นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอย่างเห็นผล ทำให้เม็ดเงินลงไปถึงกลุ่มคนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างรุนแรงได้จริง
ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวว่าต่อไปว่า อย่างไรก็ตามด้วยโครงการเพิ่งเริ่มต้นจึงอาจยังไม่เห็นผลกระทบหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินผลได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ส่วนการดำเนินโครงการเฟส 2 นั้น ก็สามารถทำต่อได้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยอาจให้สิทธิคนกลุ่มใหม่ก่อน และหากยังเหลือก็เพิ่มให้กับคนกลุ่มเดิมได้
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ ผศ.ดร.ภาวิน กล่าวว่า ควรเพิ่มเติมหรือให้ความสำคัญกับธุรกิจรายย่อย เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวรายย่อยที่มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก รวมถึงภาคท่องเที่ยวรายย่อยที่อาจยังไม่สามารถปรับธุรกิจหรือสินค้าของตัวเองให้เข้ากับรสนิยมคนไทยได้ โดยอาจจัดเป็นกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คนไทยเที่ยวไทยกันเองในแหล่งท่องเที่ยวที่เคยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากขึ้น
นอกจากนี้ ควรออกมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มธุรกิจรายย่อยที่ปัจจุบันอาจยังเข้าไม่ถึง โดยจะต้องลดเงื่อนไขต่างๆ ลงให้ได้มากที่สุด หรือการช่วยจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานในกิจการขนาดเล็กเพื่อให้สามารถจ้างแรงงานต่อไปได้ รวมถึงมาตรการที่รัฐกำลังพิจารณาทดลองอยู่อย่าง Travel Bubble ที่จะต้องทำต่อและขยายวงทดลองต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน