220 ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จัดระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี เริ่ม 8 พ.ย.นี้ โฆษกศาลฯ เชื่อช่วยยุติข้อพิพาทได้เร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายทางคดี
--------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2563 นาย นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าถึงการจัดระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี ที่มีผลบังคับใช้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 20 ตรี ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.นี้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมาการนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ ควบคู่กับการพิจารณาพิพากษาคดีระบบปกติ ถือว่าได้ผลเป็นที่ยอมรับของคู่ความและมีความสำเร็จในการยุติคดีให้เสร็จได้โดยเร็ว ซึ่งช่วงปี 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 - ต.ค.2563 ตามรายงานสถิติการไกล่เกลี่ยคดีของศาลยุติธรรม ประกอบด้วย ศาลสูง , ศาลยุติธรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ , ศาลชำนัญพิเศษ อาทิ ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ , ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น) ภาค 1-9 , ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในคดีแพ่ง คดีผู้บริโภค คดีอาญา รวมทั้งหมด 266,315 คดี , ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 233,651 คดี แบ่งเป็นการถอนฟ้องหลักหมื่นคดี และยอมความหลักแสนคดี จำนวนทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จที่มีการฟ้องกัน รวมทั้งสิ้น 614,175,702,363.19 บาท และไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 14,080 คดี
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ช่วงปีงบประมาณ 2563 ระหว่างที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด เราส่งเสริมระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ที่ถือว่ามีความทันสมัย โดยสถิติการไกล่เกลี่ยในศาลอุทธรณ์ภาค , ศาลอาญา-ศาลแพ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ , ศาลชำนัญพิเศษ , ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น) ภาค 1-9 ในคดีแพ่ง คดีผู้บริโภค คดีอาญา ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย.2563 พบว่า มีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ของ 221 ศาล รวม 22,824 คดี ดำเนินการสำเร็จ 19,531 คดี ไม่สำเร็จ 1,534 คดี นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 – 6 พ.ย.2563 พบว่า มีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ 5,760 คดี มีคดีเข้าสู่ระบบเพิ่มด้วย 89 คดี ซึ่งศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,206 คดี ไม่สำเร็จ 413 คดี
นายสุริยัณห์ กล่าวอีกว่า จากแนวทางปฏิบัติและผลสำเร็จการไกล่เกลี่ยคดีในศาลยุติธรรมที่ผ่านมา จนได้ขยายผลต่อยอดสู่การพัฒนาให้มีระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 20 ตรี ที่ผลบังคับใช้กำลังจะเริ่มขึ้นเดือน พ.ย.นั้น จะส่งผลให้บุคคลที่อาจจะกลายเป็นคู่ความในข้อพิพาทที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เพื่อให้แต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยสำเร็จก็สามารถจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ รวมทั้งสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาตามยอมได้ ซึ่งระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ สามารถยุติข้อพิพาทได้โดยคู่กรณีไม่ต้องนำคดีมาฟ้องกัน ทำให้ประหยัดเวลา ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต้องฟ้องเป็นคดีความในศาล ขณะที่คู่กรณีก็ได้รับผลในการปฏิบัติในทันที
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage