‘2 นักวิชาการ’ แนะรัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี-ผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำ RMF จูงใจผู้มีรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย ออม-ลงทุนระยะยาว เพื่อการเกษียณอายุ
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค. มีการจัดงาน ‘PIER Research Brief’ โดย ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายทรงวุฒิ บุรงค์ จากกรมสรรพากร เปิดเผยผลศึกษา เรื่อง ‘ภาษีกับการลงทุนระยะยาวของคนไทย’ โดยระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการออมและการลงทุนค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่มีสิ่งที่น่ากังวล คือ คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย มีการลงทุนระยะยาวน้อยมาก ซึ่งสะท้อนว่าคนรายได้ปานกลางที่มีการออมเงิน อาจจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณไม่มากนัก
ทั้งนี้ ผลศึกษาดังกล่าวสรุปว่า ในภาพรวม ผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการออมและการลงทุนค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากสัดส่วนผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจาก 52% ในปี 2550 เป็น 63% ในปี 2561 และมีอัตราการออมผ่านระบบภาษีอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 32% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราการออมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล คือ อัตราการออมของผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง จะต่ำกว่าของผู้ที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน โดยอัตราการออมของกลุ่ม Quintile ที่ 5 (กลุ่มผู้มีรายได้สูง) อยู่ที่ 15% สูงกว่าอัตราการออมของกลุ่ม Quintile 1-3 (กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง) เกือบ 2 เท่า
สัดส่วนการออมและลงทุนผ่านระบบภาษีต่อรายได้แบ่งตาม Quintile รายได้ (ปี 2561)
นอกจากนี้ ผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยมีการลงทุนระยะยาวน้อยมาก โดยสัดส่วนของผู้มีการลงทุนระยะยาวผ่านระบบภาษี เช่น กองทุน LTF กองทุน RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อยู่ที่ประมาณ 20-30% ของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวต่างจากของผู้มีรายได้สูงราว 70% อย่างชัดเจน และพบว่ากลุ่มรายได้ปานกลาง 20-30% ของผู้เสียภาษีเลือกที่จะมีการลดหย่อนภาษีเพื่อการประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่าคนรายได้ปานกลาง อาจจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณไม่มากนัก
ผลศึกษายังพบว่า แรงจูงใจภาษีเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สำหรับการตัดสินใจลงทุนของผู้ที่มีรายได้ปานกลาง และการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษีจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนระยะยาวของคนไทย และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษี จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีสัดส่วนการลงทุนต่อรายได้ไม่สูงนัก
ทั้งนี้ ผศ.ดร.อธิภัทร และนายทรงวุฒิ มีข้อเสนอแนะต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนเพื่อการเกษียณใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.การส่งเสริมความรู้ทางการเงินต้องครอบคลุมถึงความเข้าใจทางเลือกการออมและการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท เพราะงานศึกษาชี้ว่ามีเพียง 20-30% ของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลางที่มีการลงทุนระยะยาว ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่การวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ควรจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการออมและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่จะสอดคล้องต่อเป้าหมายทางการเงินหลังเกษียณของตนเองได้
2.ผลการศึกษาสนับสนุนให้ภาครัฐมีนโยบายการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในปี 2563 เช่น ขยายโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย จำกัดวงเงินการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับคนรายได้สูง และผ่อนคลายเงื่อนไขเกณฑ์ลงทุนขั้นต่ำสำหรับ RMF ขณะเดียวกัน รัฐจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนและประสิทธิผลของมาตรการว่าเปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้นโยบายใหม่ รวมถึงศึกษาประสิทธิผลของมาตรการภาษี เพื่อให้นโยบายภาษีตอบโจทย์ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยและความยั่งยืนทางการคลัง
อ่านประกอบ :
กระตุ้นการออมแก้เงินฝากกระจุกตัว! บัญชีเกิน10ล้านแค่ 0.2% ส่วนใหญ่มี 500-3000 บาท
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage