หมอประกิต ร่อนจดหมายเปิดผนึก จี้ รมว.คลัง ปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ ชี้ เก็บภาษีก้าวหน้า 40% เป็นไปได้ยาก เหตุโควิด-19 ระบาด ซ้ำปัญหาเศรษฐกิจ กระทบยาสูบไทยเสียดุลบุหรี่นอก รายได้รัฐลดฮวบ แต่ยอดนักสูบไม่มีทีท่าลดลง
.............................
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ทำหนังสือเปิดผนึก ส่งถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 กระทรวงการคลังการประกาศเลื่อนการปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่เป็นอัตราเดียวคือร้อยละ 40 ออกไปอีก 1 ปี ถือเป็นการเลื่อนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว โดยเลื่อนไปจัดเก็บภาษีอัตราใหม่ในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งการจัดเก็บภาษีตามกำหนดเดิมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการทบทวนเรื่องนี้ ซึ่งการจัดเก็บภาษียาสูบในปัจจุบันคือ บุหรี่ราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 ปี จัดเก็บภาษีร้อยละ 20 และบุหรี่ราคาขายปลีกซองละเกิน 60 บาท จัดเก็บภาษี ร้อยละ 40 ทำให้รายได้ภาษีของกรมสรรพสามิตมีแนวโน้มลดลง เพราะบุหรี่นำเข้ามีการลดราคาลงถูกกว่าบุหรี่ที่ผลิตในประเทศโดยการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หรือโรงงานยาสูบ ทำให้ ยสท. มีรายได้ลดลง ส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน ขณะที่จำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลง เนื่องจากหันไปสูบยาเส้นซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ซิกาแรตถึง 4-5 เท่า
ศ.นพ ประกิต กล่าวต่อว่า การขึ้นอัตราภาษียาสูบดังกล่าว ปี 2560 ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ คือบริษัทบุหรี่นอกที่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ ร้อยละ 30 เพิ่มเป็นมากกว่า ร้อยละ 50 ในปี 2562 ซึ่งการที่ ยสท. เสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่บุหรี่ต่างชาติ ส่งผลให้ 1.กำไรที่เคยได้ปีละ 8,000 ล้านบาท ลดเหลือเพียง 700 ล้านบาท ทำให้ต้องของดส่งกำไรเข้าคลังมา 2 ปี แล้ว จากที่เคยส่งรายได้ ร้อยละ 80 ของกำไรให้กับกระทรวงการคลัง 2.ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนหนัก จากการที่ ยสท. ตัดโควตารับซื้อใบยาสูบลง ร้อยละ 50 เนื่องจากยอดขายบุหรี่ลดลงมาก จึงฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแก้ปัญหาความสูญเสียที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่โดยด่วน
“วันนี้ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนเพราะ ยสท. ขายบุหรี่ได้น้อยลง ซึ่งไม่ได้มาจากการที่มีคนสูบบุหรี่ลดลง แต่เป็นเพราะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ ดังนั้นถ้าทิ้งเอาไว้อย่างนี้ก็เดือดร้อนมากขึ้นทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่ยาสูบและ ยสท. รายได้รัฐบาลก็มีแนวโน้มจะลดลง และคนสูบก็ไม่ได้ลดลง ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง ปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ ซึ่งทราบว่ากรมสรรพสามิตเคยหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกก็มีคำแนะนำเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นต้องรีบคุยกัน ไม่ควรจะทิ้งเอาไว้อย่างนี้ ยกตัวอย่างควรยกเลิกอัตราภาษียาสูบ 2 ระดับ ที่เก็บร้อยละ 20 และร้อยละ 40 ตามราคาขาย ควรปรับใหม่ให้เหลือเพียงอัตราเดียว เป็นร้อยละ 30- 32 ตามราคาขาย และเพิ่มภาษีต่อมวนจาก 1.2 บาท เป็น 1.4 หรือ 1.5 บาท เพื่อทำให้บุหรี่ไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และช่วยลดคนสูบบุหรี่ ศ.นพ ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการที่ตนออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าต้องการออกมาปกป้องการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือไปส่งเสริมการสูบบุหรี่ของผู้ผลิตรายใด แต่ที่ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ เนื่องจากปกติการกำหนดภาษีบุหรี่ต้องจัดการให้ได้ทั้งผลทางภาษี และผลต่อระบบสาธารณสุข แต่โครงสร้างการจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเช่นนั้น รัฐเก็บภาษีเพิ่มไม่ได้ อีกทั้งยอดคนสูบก็ไม่ลดลง แสดงว่านโยบายมีปัญหา ต้องมีการปรับเปลี่ยน มิฉะนั้นจะกระทบกับการขึ้นภาษีบุหรี่ในอนาคต และจะส่งผลต่อความพยายามที่จะลด ละ เลิกบุหรี่ ทำให้ไม่ได้ผลตามไปด้วย