สปสช.ประชุมหน่วยบริการพื้นที่ กทม. แจงมาตรการดูแลประชาชนสิทธิว่าง “บัตรทอง” จากผลกระทบยกเลิกสัญญาคลินิกเบิกค่าบริการเท็จ ยอมรับส่งผลหน่วยบริการภาระงานเพิ่ม พร้อมขอบคุณที่ร่วมดูแล ย้ำเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน สปสช.ขณะนี้แก้ไขปัญหา เชื่อ 1-2 เดือน จัดหาหน่วยบริการใหม่รองรับได้ ขณะที่ เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่สำนักงานเขตหลักสี่ กทม. ดูแลประชาชนลงทะเบียนขอเปลี่ยนหน่วยบริการ
.....................................
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิด “การประชุมรับฟังการชี้แจงแนวทางการรองรับการให้บริการและการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ สำหรับประชาชนสิทธิว่าง กรณีหน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยมีผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐในพื้นที่กรุงเทพมหานครเข้าร่วม อาทิ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ทหาร กรมการแพทย์ทหารเรือ และกรมการแพทย์ทหารอากาศ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เป็นต้น รวม 135 แห่ง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุเพิกถอนสัญญาคลินิกเอกชนจากการตรวจสอบพบการเบิกจ่ายผิดปกติและทุจริต ในฐานะเลขาธิการต้องขอขอโทษจากความรู้สึกจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุนี้เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบ 2 ส่วน คือ ขวัญกำลังใจของผู้ให้บริการ ซึ่งรู้สึกว่าทำไม่ปัญหาถึงรุนแรง และไม่มีการดูแลกัน ต้องชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นความจำเป็นของประเทศ เพราะเรื่องทุจริตเป็นสิ่งที่เรายอมไม่ได้ เงินทุกบาททุกสตางค์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล้วนเป็นเงินภาษีประชาชน เมื่อพบหลักฐานเราจำเป็นต้องดำเนินการ และเพิกถอนสัญญา แต่สิ่งที่ตามมาคือภาระงานที่เพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้นของหน่วยบริการที่ยังอยู่ในระบบและต้องแบกรับ ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหลายแห่งไม่ได้เตรียมตัวกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้หน่วยบริการรองรับไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงนำมาสู่การประชุมชี้แจงความร่วมมือในวันนี้เพื่อดูแลประชาชนสิทธิว่างให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับหน่วยบริการและประชาชน
ภาระงานที่เกิดขึ้นฉับพลันของหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ สปสช.ไม่ปฏิเสธ และขอโทษมาที่นี้ โดยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยบริการ ต้องขอขอบคุณ แต่ยืนยันว่า สปสช.จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดในการจัดหาหน่วยบริการใหม่รองรับประชาชนในคลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญาภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้ระบบบริการสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ต้องชี้แจงว่าในจำนวนประชาชน 8 แสนคน ที่ขึ้นทะเบียนคลินิกที่ถูกเพิกถอนสัญญา 64 แห่ง มีเพียง 30% ที่เจ็บป่วยและต้องเข้ารับบริการต่อเนื่อง แต่เมื่อมีข่าวนี้ได้ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกขึ้นเพราะเป็นสิทธิของเขา ไม่ใช่ทั้งหมดที่เข้ารับบริการ
ด้าน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สปสช.เองไม่คาดฝันและไม่คิดว่าจะมีคลินิกเอกชนที่ต้องถูกยกเลิกสัญญามากขนาดนี้ ทำให้หน่วยบริการภาครัฐต้องเข้ามาอุ้มเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ได้ ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยบริการที่เข้ามาร่วมดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ขอให้ความมั่นใจว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้คงไม่นาน เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น เพราะ สปสช.คงไม่สามารถปล่อยให้ปัญหาอยู่ได้นานได้ โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด และในวันนี้จึงได้เชิญทุกคนมาหารือ นอกจากการชี้แจงแนวทางมาตรการต่างๆ ที่ต้องขอความร่วมมือในการดูแลประชาชนแล้ว ยังเป็นการรับฟังผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหน่วยบริการเพื่อนำมาเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
“สปสช.เองก็ไม่อยากทำรุนแรงจนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ขณะนี้ยังมีคลินิกเอกชนอีก 106 แห่ง ที่พบการเบิกค่าบริการผิดปกติที่รออยู่อีก สุดท้ายเชื่อว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นจะถูกออกจากระบบเกือบหมด แต่ สปสช.จำเป็นต้องทำ และ สปสช.เองก็ไม่มีทางเลือก เพราะเป็นการทำทุจริต เราสัญญาว่าจะพยายามหาเครือขายหน่วยบริการภาคเอกชนมาร่วมมือโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ทุจริตรายเดิม เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการเอกชนรายใหม่ที่พร้อมจะเข้าร่วม”
นพ.การุณย์ กล่าวว่า ในรอบแรก 2 แสนคน สปสช.สามารถจัดหาหน่วยบริการทดแทนได้ แต่รอบที่ 2 จำนวน 8 แสนราย สปสช.กำหนดเป็นสิทธิว่าง เพราะหน่วยบริการรัฐเองก็เต็มที่รับไม่ไหว แต่สิทธิว่างนี้ถือว่าประชาชนยังมีสิทธิบัตรทองอยู่ ขอให้หน่วยบริการช่วยดูแลหากมีประชาชนสิทธิว่างในกลุ่มนี้ไปรับบริการ โดย สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการให้ ทั้งนี้จากข้อมูลผู้รับผลกระทบนั้น ประมาณ 30% มีการเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาส่วนหนึ่ง โดยตัวเลขการรับบริการไม่ได้มากและน่ากลัวอย่างที่คิด
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 11:00 น. นพ.ศักดิ์ชัย พร้อมด้วย นพ.ปริญญา ชมวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต13 กทม. ลงพื้นที่สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ณ จุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชน 64 แห่งที่พบการเบิกจ่ายผิดปกติและเบิกจ่ายค่าบริการไม่ถูกต้อง โดยได้ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าสิทธิบัตรทองยังอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก ยังคงเหมือนเดิม และเรื่องนี้เกิดเฉพาะในพื้นที่ กทม. ไม่รวมจังหวัดอื่นที่การให้บริการในระบบยังเหมือนเดิม ขณะที่การแก้ไขปัญหา เบื้องต้น สปสช.ได้เร่งดูแลในส่วนผู้ป่วยเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องแล้ว และคาดว่าในอีก 1-2 เดือน คงมีหน่วยบริการใหม่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบเพื่อให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการใหม่ได้