'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ยื่นญัตติด่วนขอให้รัฐสภา มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส.ส.ลงชื่อซ้ำขอแก้ไข รธน.หลายฉบับได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) หลังวจากวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านได้เสนอร่างแก้ไข รธน. เพิ่มเติม 4 ฉบับ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าผู้ที่ลงชื่อส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ได้ลงชื่อร่วมกับญัตติแก้ไข รธน. 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว จึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ที่ว่า ส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไข รธน.ได้คราวละหนึ่งฉบับหรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ
"เหตุการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 ม.ค.2563 ซึ่ง ส.ส. เข้าชื่อรวมกัน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยศาลวินิจฉัยในคำสั่งว่า เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอตามคำร้องไม่ 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 75 คน กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นลงลายมือชื่อได้คำร้องเดียวเท่านั้น จะมีลายมือชื่อเป็นผู้เสนอความเห็นซํ้ากันในคำร้องอื่นไม่ได้" นายไพูบลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในการยื่นญัตติแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เสนอให้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งมีผลให้มีการแก้ไข รธน. ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงบทเฉพาะกาล ดังนั้นการยื่นเพิ่มอีก 4 ญัตติที่เสนอให้แก้ไขรายมาตรา จึงซ้ำกับร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมที่ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค.
"รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้มีฉบับเดียวเหตุใด ส.ส.จึงไม่เสนอให้แก้ไขทุกมาตราที่ต้องการจะแก้ไขในฉบับเดียวกัน แต่ใช้วิธีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับละมาตรา และเสนอหลายฉบับในคราวเดียวกัน จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาว่าจะมีอำนาจในการลงลายมือเสนอร่าง รธน.คราวละหลายฉบับได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาการใช้อำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ" นายไพบูลย์ กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage