ประธานชมรมพัฒนาชุมชน ‘อปท.’ โวย ‘กรมบัญชีกลาง’ จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-เบี้ยความพิการล่าช้า แต่กลับโทษเป็นความผิด อปท. พร้อมถามเงินสำรองราชการฯ 1.5 พันล้านบาท ที่เคยรับปากว่านำมาสำรองจ่ายได้ก่อน ‘หายไปไหน’ ชี้หากไม่มีความพร้อมให้โอนภารกิจกลับไปให้ ‘กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น’ เหมือนเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) เผยผ่านเพจ ‘ชมรมพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ กรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการประจำเดือนก.ย.2563 ที่เลื่อนการโอนเงินจากวันที่ 10 ก.ย.2563 เป็นภายในเดือนก.ย.2563 ว่า หากกรมบัญชีกลางไม่มีความพร้อมในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ก็ไม่ควรโยนความผิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
นายชัชวาลย์ ยังเสนอให้โอนหน้าที่จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการกลับมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เหมือนเดิม หลังจากในช่วงเดือนม.ค.2563 เป็นต้นมา กรมบัญชีกลางได้เข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว แทนอปท. เนื่องจากมีการแก้ไขระเบียบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระเบียบเบี้ยความพิการ และระเบียบการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ
นอกจากนี้ นายชัชวาล ระบุว่า เหตุใดกรมบัญชีกลางไม่โอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการให้ผู้มีสิทธิ์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางเคยระบุว่า หากงบประมาณไม่เพียงพอ กรมบัญชีกลางจะนำเงินทดรองราชการฯ ที่มีวงเงิน 1,500 ล้านบาท มาสำรองจ่ายเบี้ยยังชีพทั้ง 2 ส่วนได้ทันที จากนั้นจึงไปเรียกเก็บคืนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้มีคำถามว่าเงินทดรองราชการ 1,500 ล้านบาท หายไปไหน
“พวกเราในนามของชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จึงขอฝากไปถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่า อย่าเอาชาวบ้านมาเป็นตัวประกันในการทำงาน ตอนจะทำงานพูดสวยหรูว่าจะสำรองให้ แต่ถึงเวลาจริงๆไม่สำรองให้ เพราะว่าอะไร ก็ต้องชี้แจงมาให้พวกเราได้รับทราบว่าเพราะอะไร ทำไมใช้เงินทดรองราชการไม่ได้ ติดขัดอะไรตรงไหน ไม่มีความพร้อมหรือไม่ ก็ส่งคืนกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจ่ายเหมือนเดิม เพราะว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เคยทำให้ประชาชนผิดหวังอยู่แล้ว” นายชัชวาลย์กล่าว
นายชัชวาล ย้ำด้วยว่า ตั้งแต่ อปท.เข้ามารับหน้าที่ดูแลสวัสดิการชาวบ้านทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือนธ.ค.2562 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและอปท. ได้ทำงานร่วมกัน และไม่มีปัญหาการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติแล้วกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรเงินมาให้ อปท. ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน
นอกจากนี้ ในกรณีที่อปท.แห่งใด ไม่มีเงินเพียงพอ สามารถทำการตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการใช้เงินสะสมได้ หรือหากมีเงินสะสมไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้เงินทุนสำรองสะสมมาใช้ก่อนได้อีก
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลงดจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการเดือนก.ย.2563 ว่า รัฐบาลไม่ได้มีการงดจ่าย แต่เป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเนื่องจากมีการปรับปรุงยอดงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในเดือนก.ย.2563 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการจ่ายเงินดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563
"ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อมาจ่ายเงินดังกล่าวแล้วและกรมบัญชีกลางจะได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ต่อไป โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.2563" นายลวรณระบุ
ที่มา : เพจชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
อ่านประกอบ :
ยันไม่ถังแตก! รัฐดึงเงินเหลือจ่าย 'อปท.' จ่ายเบี้ย ‘ผู้สูงอายุ-คนพิการ’ ภายใน 22 ก.ย.นี้
คุก 2 ปี 6 ด.! อดีต จนท.สตง. ภาค3 เรียกเงินช่วยคดีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-โดนไล่ออกนานแล้ว
ครม.ไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาผู้พิการ ช่วง 'โควิด' คนละ 1 พันบาท-เพิ่มเบี้ยยังชีพ
ผู้สูงอายุเชียงใหม่รวมตัวร้อง ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/