ส.ส.ก้าวไกล - อดีตพนักงานพิสูจน์หลักฐานถอดบทเรียนคดี 'บอส อยู่วิทยา' เสนอสังคายนากระบวนการยุติธรรม กระจายอำนาจสืบสวนจากตำรวจ เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ขณะที่ ปธ.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แนะสูตรถ่วงดุลอำนาจในชั้นสอบสวน ดึงประชาชน - ฝ่ายปกครอง ร่วมเก็บบันทึกหลักฐานที่เกิดเหตุ
--------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. Innocence International Thailand ร่วมกับสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานเสวนาสังคายนากระบวนการยุติธรรม โดย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.ก้าวไกล อดีตพนักงานพิสูจน์หลักฐาน ในคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีของนายวรยุทธ ว่า เรื่องนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐานของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานที่เป็นผู้คำนวณความเร็วรถ ที่ได้เปลี่ยนคำให้การเรื่องความเร็วรถของนายวรยุทธ ทั้งที่ได้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ไปแล้ว แต่กลับมาเปลี่ยนแปลงในภายหลังนั้น ซึ่งตนไม่เคยเห็นกรณีเช่นนี้มาก่อน เพราะหลักฐานปรากฎในสำนวนและเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าคดีนี้ผิดปกติ ซึ่งขบวนการเปลี่ยนความเร็ว เป็นข้อบ่งชี้ว่าควรมีการแก้ไขในกฎหมายขั้นตอนการสืบสวนที่จากเดิมรวบอำนาจไว้ที่ตำรวจ ในส่วนกระบวนการพิสูจน์หลักฐานตนมองว่าต้องให้มีการกระจายอำนาจสู่หลายภาคส่วน ไม่ใช่ทำงานจบในหน่วยงานเดียว
พ.ต.ต.ชวลิต กล่าวต่อว่า งานพิสูจน์หลักฐานเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการตีความ บิดพลิ้วได้ตามพยานหลักฐานและวิธีตีความของแต่ละคน ฉะนั้นงานที่ทำโดยหน่วยงานเดียว ควรเปิดโอกาสหรือเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานหรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนเกิดเหตุดังกล่าวมีสื่อมวลชนบันทึกภาพถ่ายที่ตนถือรูปภาพการเปรียบเทียบความเร็วรถไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งต่อมาหลังจากเกิดเหตุการณ์กรณีไม่ฟ้องนายวรยุทธ ตนได้นำรูปภาพดังกล่าวเมื่อครั้งทำคดีนี้มาใช้ และทำให้ตนต้องพูดเรื่องของความเร็วรถในหลักการเดิมวันนั้น ชี้ให้เห็นว่าเมื่อสาธารณะได้รับรู้เกี่ยวกับข้อมูล จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานไม่ได้ ดังนั้นข้อมูลต้องได้รับการเผยแพร่ให้กับประชาชน ในการพิสูจน์หลักฐานหรือการสอบปากคำควรมีการบันทึกวิดีโอไว้ทุกขั้นตอน เพื่อจะได้รู้ว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นอย่างไร มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง
“ถ้าจะมีการแก้ไข อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้ามาตรวจสอบในการสืบสวนได้ เราต้องมีการบันทึก วีดีโอหรือเสียง ไว้ในชั้นพนักงานพิสูจน์หลักฐาน พนักงานสอบสวน บันทึกไว้ในระบบส่วนกลาง เพื่อให้เป็นข้อมูลเปิด และกระจายอำนาจให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม” พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว
ด้าน นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) กล่าวว่า กรณีการตายของนายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญในคดีนายวรยุทธ สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมีความน่าสงสัยหลายประการ เช่น การชนกันของรถผู้ตายในความเร็วขณะนั้นจะทำให้เสียชีวิตหรือไม่ โทรศัพท์และซิมการ์ดถูกทำลาย ไม่รู้ว่ามีการสืบสวนต่อหรือไม่ ในขณะที่ผู้ตายต้องเข้ามาให้ปากคำกับกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรในอีก 1 วันถัดมา เป็นการตายที่มีเงื่อนงำมาก
นายนิกร กล่าวต่อว่า ในกระบวนการทำคดี ตั้งแต่พนักงานสอบสวน ถึงอัยการ จะมีการแบ่งกันตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือทำงานเชิงเดี่ยว ในขั้นตอนนี้จะอันตรายมาก เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องทำให้มีการถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายปกครอง ผู้สื่อข่าว หรือภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บหลักฐานในคดี จะทำให้มีการบันทึกได้หลากหลายแง่มุม เอาไว้โต้แย้งกันในข้อมูล จะทำให้มีความยุติธรรมแก่การพิสูจน์หลักฐานเพิ่มขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage