คลายล็อกเฟส 4 มีเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว! ศาลแพ่งสั่งจำหน่ายคดีหลังเครือข่าย กป.อพช. ยื่นฟ้อง ‘บิ๊กตู่’ ใช้อำนาจขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่ศาลแพ่ง ศาลนัดอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ พ.3454/2563 มีนายนิมิตร์ เทียนอุดม กับพวกเครือข่าย People GO Network ในฐานะสมาชิกกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เป็นโจทก์ที่ 1-5 ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นจำเลย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศตามมาตรา 5 และข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์ทั้งห้าจะยื่นคำฟ้อง มีเหตุโรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย จำเลยจึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และประกาศขยายระยะเวลาอีก ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 และออกข้อกำหนดห้ามชุมนุม ซึ่งเป็นข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้งห้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3) ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือไม่
ศาลเห็นว่า หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้อง จำเลยออกประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) ฉบับลงวันที่ 28 ก.ค.2563 ซึ่งมีผลบังคับระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค.2563 และจำเลยประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 เป็นต้นไป
โดยข้อกำหนดฉบับที่ 4 ระบุว่า "ข้อ 1. การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย"
เห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าวแตกต่างและเป็นการผ่อนคลายจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวข้อที่ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ดังนั้น ขณะนี้โจทก์ทั้งห้าจึงมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ถึงกับต้องห้ามชุมนุมทุกกรณีเช่นเดียวกับขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย.2563 และข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่มีประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่าย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage