คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ย้ำเยาวชนสามารถใช้สิทธิชุมนุมได้โดยสงบ – เดินหน้าเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่เยาวชนหลายกลุ่มได้ชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการหลายประการตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเยาวชนบางกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสม. เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม กสม. มีความห่วงกังวลต่อการชุมนุมเพื่อแสดงออก โดยขอให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ในเรื่องที่มีความเห็นต่าง พึงระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน ขอให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น และขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กับขอให้สังคมมีความอดทนและเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมที่จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บุคคลที่มาชุมนุมกัน พึงปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ราชการกำหนด
“แม้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เด็กที่สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเองแล้วมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้เสรีในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก โดยความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น และแม้เด็กจะมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้สิทธิดังกล่าว ก็ต้องเคารพต่อสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นด้วย” นายวัส กล่าว
“ส่วนที่ปรากฏข่าวในสื่อหลายฉบับว่า มีบุคคล 2 คน โต้ตอบกันเกี่ยวกับแนวคิดในโครงการดับอนาคต โดยจัดทำบัญชีบุคคลผู้จาบจ้วงหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ส่งให้บริษัทห้างร้าน หน่วยงานของรัฐ และสถานศึกษา อย่ารับเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาต่อหรือให้ทุน และพาดพิงถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของ กสม. นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่า บุคคลหรือองค์กรใดเห็นว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พึงมาร้องขอให้ กสม. เข้าตรวจสอบได้ ไม่ใช่กล่าวหากันผ่านสื่อ
อนึ่ง กสม. และสำนักงาน กสม. คอยเฝ้าระวังเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ แต่หากมีการกระทำใดเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน บุคคลสามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งเป็นกลไกปกติในการยุติปัญหา ต่อเมื่อการกระทำของบุคคลใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น และกลไกดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ของตน กสม. จึงจะสามารถเข้ามาตรวจสอบเพื่อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาได้ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ กสม.จึงจะมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนได้” ประธาน กสม. กล่าวในที่สุด