ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งศาล รธน.วินิจฉัย หลัง ‘ศรีสุวรรณ’ ร้อง รบ.ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นเรื่องจำเป็นมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุโควิด-19 ระบาดฉับพลัน ยังไม่อาจทราบได้ว่าเกิดความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเผยแพร่เอกสารข่าว ระบุถึงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และมาตรา 20 ของพระราชกำหนดดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 172 ประกอบมาตรา 140
ผลการพิจารณา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเห็นว่าตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งและวรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ คณะรัฐมนตรีสามารถตราพระราชกำหนดได้ในกรณีที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในอันรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ประกอบกับที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์โรคโควิด – 19 ระบาดอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นผลให้ผู้ประกอบการซึ่งระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างกะทันหัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากไม่เร่งรีบดำเนินการป้องกันและวางแนวทางแก้ไขไว้ก่อนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากกระบวนการตราพระราชบัญญัติก็ไม่อาจตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดดังกล่าวนี้ ก็เพื่อมิให้ปัญหาวิกฤติของตลาดตราสารหนี้ลุกลาม อันเป็นการทำหน้าที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐในการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับที่ผู้ร้องเรียนเห็นว่ากรณีมาตรา 20 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเห็นว่ามาตรา 20 มีเจตนารมณ์ในการกำหนดกระบวนการบริหารจัดการกองทุนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีกรณีที่ต้องจ่ายเงินแผ่นดินเกิดขึ้นหรือไม่ แต่หากเกิดกรณีที่ต้องชดเชยความเสียหายนั้น กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปให้สอดคล้องตามมาตรา 140
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/