ประธาน กสม. เผย 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญร่วมกันออกแนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องร้องเรียนระหว่างองค์กร - ป้องกันความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ - เสริมความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า โดยที่มาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดในลักษณะที่สอดคล้องกันว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร ถ้าองค์กรอิสระใดเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้แจ้งองค์กรอิสระนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และถ้าองค์กรอิสระใดเห็นว่าการดำเนินการเรื่องใดอาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้ปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กรจึงได้ร่วมกันออกประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กรณีที่มีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนต่อองค์กรอิสระใด หากองค์กรอิสระนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้น แต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องดังกล่าวให้องค์กรอิสระอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรอิสระนั้นยุติการดำเนินการ และส่งเรื่องให้องค์กรอิสระอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. กรณีที่มีการแจ้งหรือร้องเรียน หรือความปรากฏต่อองค์กรอิสระใด แล้วองค์กรอิสระนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ แต่มีประเด็นที่อาจเข้าลักษณะอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นรวมอยู่ด้วย ให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องเฉพาะประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นเพื่อดำเนินการในประเด็นนั้นต่อไป
3. กรณีที่มีการแจ้งหรือร้องเรียนเรื่องเดียวกันต่อองค์กรอิสระหลายองค์กร ให้องค์กรอิสระแต่ละองค์กรดำเนินการในประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากมีประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นรวม อยู่ด้วย ให้องค์กรอิสระที่รับเรื่องนั้นส่งเรื่องเฉพาะประเด็นที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นเพื่อดำเนินการในประเด็นนั้นตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
4. การดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระหลายองค์กร องค์กรอิสระอาจปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ องค์กรอิสระอาจประสานข้อมูลระหว่างองค์กรเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องนั้นก็ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายขององค์กรอิสระแต่ละองค์กร
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ไม่ตัดอำนาจตามกฎหมายในการขอให้ผู้ถูกร้องหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ว่าด้วยการนั้น
5. การส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามแนวปฏิบัตินี้ ให้สำนักงานขององค์กรอิสระส่งเป็นสำเนาเอกสารพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เว้นแต่กรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้ส่งต้นฉบับเรื่องร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานขององค์กรอิสระผู้รับเรื่อง
กรณีส่งเรื่องที่มีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน ให้สำนักงานขององค์กรอิสระผู้ส่งเรื่องมีหนังสือแจ้งให้ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนทราบถึงการส่งเรื่องดังกล่าวด้วย และให้สำนักงานขององค์กรอิสระผู้รับเรื่องแจ้งการรับเรื่องและผลการดำเนินการให้ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนทราบต่อไป
6. เมื่อองค์กรอิสระผู้รับเรื่องได้พิจารณาดำเนินการเรื่องที่ได้รับเสร็จสิ้นแล้ว ให้สำนักงานขององค์กรอิสระผู้รับเรื่องแจ้งผลการพิจารณาให้องค์กรอิสระผู้ส่งเรื่องทราบด้วย
เพื่อประโยชน์ในการแจ้งผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน สำนักงานขององค์กรอิสระผู้ส่งเรื่องอาจสอบถามความคืบหน้าจากสำนักงานขององค์กรอิสระผู้รับเรื่องก็ได้
7. ในการรับส่งเรื่องหรือการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างองค์กรอิสระ สำนักงานขององค์กรอิสระอาจจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ได้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้
8. กรณีมีปัญหาโต้แย้งว่าเรื่องร้องเรียนอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระใด องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องอาจปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติของปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ก่อนที่จะพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 210 (2) ก็ได้
9. กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ประธานองค์กรอิสระร่วมกันวินิจฉัยชี้ขาด
คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด
“ประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้ง 5 องค์กร ดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” นายวัส กล่าวปิดท้าย