คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยศึกษาผลกระทบด้านยาหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศแพงขึ้น มีสัดส่วนการนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงถึง 85% และส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศลดลง
ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นในเรื่อง CPTPP Impact on Access to Medicines ต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยงานศึกษาชิ้นนี้จะดูว่าเนื้อหาของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในเรื่อง Patent Linkage กับ Government Procurement จะส่งผลกระทบต่อราคายา ส่วนแบ่งการตลาดระหว่างผู้ผลิตในประเทศและบริษัทนำเข้า และอัตราการเติบโตของตลาดอย่างไรในระยะ 30 ปีข้างหน้า
ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวว่า ในภาพรวมของการศึกษา สามารถบอกได้ว่าหากเข้าร่วม CPTPP ค่าใช้จ่ายในด้านยาจะสูงขึ้น หมายความว่าเราจะกินยาที่แพงขึ้น ต้องพึ่งพายานำเข้ามากขึ้นและมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศมีแนวโน้มลดลง
ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร ขยายความว่า เนื้อหาของ Patent Linkage จะส่งผลกระทบในแง่ที่ทำให้อุตสาหกรรมยาของประเทศผลิตยาสามัญเลียนแบบได้ช้าลง จากปัจจุบันที่หากยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรวันนี้ พรุ่งนี้สามารถวางจำหน่ายยาสามัญเลียนแบบได้เลย แต่ถ้ามีเรื่อง Patent Linkage เพิ่มเข้ามา จะทำให้การขอขึ้นทะเบียนยาสามัญเลียนแบบก่อนสิทธิบัตรหมดอายุยากขึ้น ส่วนใหญ่จะต้องรอให้สิทธิบัตรหมดอายุแล้วค่อยขึ้นทะเบียน ทำให้ผลิตยาสามัญเลียนได้ช้าลงประมาณ 2 ปี ในกรณีที่กระบวนการขึ้นทะเบียนไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย แต่ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นก็จะใช้เวลานานขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เมื่อดำเนินการจนถึงขั้นขึ้นทะเบียนยาได้จะทำให้บริษัทยาหลายๆบริษัทขึ้นทะเบียนยาได้ในจังหวะที่พร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดสูง ราคายาก็จะถูกลง แต่อย่าลืมว่ากว่าราคายาจะถูกลง กระบวนการต่างๆ จะต้องใช้เวลานานขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับเนื้อหาในส่วนของ Government Procurement จะส่งผลกระทบกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งปัจจุบันได้รับสิทธิพิเศษว่าเมื่อผลิตยาตัวไหน โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาของ อภ.ก่อน ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็คือการรักษาเสถียรภาพราคายาในตลาดไม่ให้สูงเกินไป แต่ถ้าเปิดให้โรงพยาบาลมีสิทธิเลือกซื้อยาจากบริษัทใดๆก็ได้ อภ.ก็อาจต้องปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่
ทั้งนี้ จากการประมาณการตัวเลขต่างๆ ของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาอยู่ที่ 196,898 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาอยู่ที่ 71% ส่วนมูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 69,326 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของ อภ.ในตลาดอยู่ที่ 6,904 ล้านบาท โดยในกรณีที่ยังคงสถานการณ์เหมือนปัจจุบัน (Business as usual : BAU)ไปอีก 30 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะอยู่ที่ 980,637 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 76% มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 285,454 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของ อภ.ในตลาดอยู่ที่ 24,089 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เข้าร่วม CPTPP โดยพิจารณาผลกระทบจาก Patent Linkage กับ Government Procurement มีการคาดการณ์ว่าใน 30 ปีข้างหน้า ในระดับ Low Impact จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก BAU ไปอีก 107,900 ล้านบาท สัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 85% มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศติดลบ 79,491 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดของ อภ. ติดลบ 7,917 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลกระทบในระดับ High Impact คาดว่าจะทำให้ ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจาก BAU ไปอีก 452,150 ล้านบาท สัดส่วนการนำเข้ายาเพิ่มเป็น 85% มูลค่าตลาดของผู้ผลิตยาในประเทศติดลบ 19,860 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดของ อภ. ติดลบ 13,142 ล้านบาท
ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวว่า การคาดการณ์ผลกระทบจะมีตัวแปรต่างๆที่หลากหลาย ทำให้ตัวเลขข้างต้นยังไม่ค่อยนิ่ง แต่ก็สามารถบอกแนวโน้มได้ว่าถ้าเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าการใช้ยาในภาพรวมของประเทศแพงขึ้น ส่วนจะแพงขึ้นเท่าไหร่ มีตัวเลขคาดการณ์ตั้งแต่ระดับ Low ถึง High และอีกประเด็นที่บอกทิศทางได้คือประเทศไทยจะพึ่งพิงยานำเข้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น จาก 71% เป็นประมาณ 85% และส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศจะลดลง
ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายว่า อุตสาหกรรมยาในไทย เทคโนโลยียังไม่สูง ทำได้แต่ยาเลียนแบบง่ายๆ และขายแต่ในประเทศ เพราะฉะนั้นควรส่งเสริมอุตสาหกรรมยาให้แข็งแรงโดยมี 2 แนวทางคือถ้าจะทำยาเลียนแบบต่อก็น่าจะส่งเสริมให้มีการส่งออกไปขายทั่วโลกเหมือนบางประเทศผลิตยาสามัญเลียนแบบส่งขายทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางของประเทศตามไปด้วย
"ตัวอย่างจากกรณีโควิด-19 ต่อให้เราผลิตยาได้ แต่ถ้าประเทศอื่นไม่ส่งวัตถุดิบให้ เราก็ไม่มียาใช้ แต่ถ้าหากมีการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยผลิตยาสามัญขายทั่วโลกได้ ตลาดเราจะใหญ่ขึ้น โอกาสที่จะผลิตวัตถุดิบเองก็มีมากขึ้น มีความมั่นคงทางยามากกว่าเดิม" ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าว
ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือ รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมทางยา อย่างเรื่องโควิด-19 เมืองไทยก็กำลัง R&D ยาใหม่ ซึ่งหากสามารถวิจัยและผลิตได้ ก็สามารถส่งขายทั่วโลกได้ ดังนั้นถ้าเรามีนวัตกรรมเรื่อยๆ ความมั่งคงทางยาก็มีมากขึ้นตามไปด้วย