‘กรุงไทย’ คาดตลาดที่อยู่อาศัยทั้งปี 63 หดตัว 27% เหตุเศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงจากพิษโควิด ขณะที่กำลังซื้อชาวจีนหายจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ศูนย์อสังหาฯ ธอส. ระบุความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯในไตรมาส 2/63 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หลังรัฐบาลดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ถูกบั่นทอนอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้บริโภคไทยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหดตัวอย่างรุนแรง (Deep Recession) ถึง 8.8% ส่วนผู้บริโภคต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ทำให้ไม่สามารถซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไทยได้ ส่งผลให้ยอดจองเปิดใหม่ (Pre-sale) ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 20% ในไตรมาสที่ 4/2562 มาอยู่ที่ 15% ในไตรมาสที่ 1/2563 และมีโอกาสลดต่ำลงเหลือ 12% ในไตรมาสที่ 2/2563
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้ มูลค่าลดลง 27% จาก 5.7 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 4.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 2.4 แสนล้านบาท ติดลบ 24% คอนโดมิเนียม 1.8 แสนล้านบาท ติดลบ 30% ส่งผลให้สต็อกเหลือขายในภาพรวม มีโอกาสขยายตัว 5% ขึ้นไปแตะ 185,000 ยูนิต แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะปรับลดการเปิดโครงการใหม่ลงเกือบ 40% จากปีที่ผ่านมาก็ตาม
“โควิด-19 ทำให้ความตั้งใจซื้อที่อยู่อาศัยหายไปราว 1 ใน 3 โดย 80% ของผู้บริโภคเลื่อนการซื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการลงทุนในอสังหาฯขณะนี้ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก ซึ่งทางออกของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือการเลื่อนการก่อสร้างออกไป รอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และคาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ถึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19” นายพชรพจน์กล่าว
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ยังพบ 3 พฤติกรรมหลักๆ ของผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร (New Normal) ได้แก่ เปลี่ยนช่องทางการซื้อที่อยู่อาศัยผ่านทางออนไลน์ โดยในช่วงเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 40% ทำให้กลายเป็นช่องทางหลักของผู้พัฒนาฯ
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยยอมอยู่ไกลกว่าเดิม เพื่อรองรับกิจวัตรประจำวันที่ต้องใช้เวลาในที่อยู่อาศัยนานขึ้น เช่น การ Work From Home และสุดท้ายผู้บริโภคหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางแบบมีพื้นที่ส่วนตัว เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย
“ผู้พัฒนาอสังหาฯ ควรพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ การนำเทคโนโลยี Virtual Visits มาสนับสนุนการซื้ออสังหาฯ ผ่านทางออนไลน์ โดยสามารถชมโครงการได้อย่างเสมือนจริง ปรับแผนมาพัฒนาบ้านแนวราบมากขึ้น เช่น บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าคอนโดมิเนียม ออกแบบคอนโดมิเนียมในบางทำเล ให้มีห้อง One Bed Plus แทน Studio มากขึ้น ตลอดจนการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางใหม่ให้สามารถนั่งแยกกัน และติดตั้งอุปกรณ์ Touchless เพื่อลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะสัมผัสกันให้น้อยที่สุด” นายกณิศกล่าว
ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
แต่ทั้งนี้ ดัชนีก็ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรายกลางและรายย่อย ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก
นอกจากนี้ เมื่อแยกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 45.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 38.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 และต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น และรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบที่สองของเชื้อ COVID-19
“ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 57.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.8 แต่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.4” ดร.วิชัยกล่าว
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 โดยคาดว่า ทั้งปีจะมียอดโอนอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศเป็นจำนวน 311,719 ยูนิต หดตัว 16.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดกว่าค่าเฉลี่ยการโอนย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่เฉลี่ย 344,750 ยูนิต ซึ่งเป็นผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการหารายได้อนาคต
อ่านประกอบ :
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/