ผลสำรวจชี้คนไทยยังตั้งการ์ดป้องกันโควิด และยังพบว่าโควิด-19 ชีวิตประจำวันด้านสุขภาพเปลี่ยนไปมากที่สุด รองลงมาคือด้านการบริโภคอาหารและด้านการเดินทาง ส่วนคนที่ยังทำตัวปกติเหมือนก่อนมีโควิดมีแค่ 2% เท่านั้น
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมป้องกันตนเองของประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค สัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 29 พ.ค.- 4 มิ.ย. 2563 โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 15,866 รายพบว่า ประชาชนมีภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตนเองอยู่ที่ 75.7% โดยหากแยกตามรายมาตรการพบว่าการใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลาเป็นพฤติกรรมที่ประชาชนปฏิบัติมากที่สุดถึง 91.5% รองลงมา ได้แก่ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ 83.9% กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง 83.7% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่น ในระยะน้อยกว่า 2 เมตร 66% และระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 58.8% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมป้องกันตนเองที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน กับเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 69.6% ปฏิบัติเหมือนเดิม และมีอีก 16% ที่ปฏิบัติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่าในส่วนของผู้ที่มีพฤติกรรมป้องกันตัวเองน้อยลงอีก 14.4% นั้น กว่าครึ่งหรือ 52.7% ของจำนวนดังกล่าวให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความกังวลว่าจะติดเชื้อลดลงแล้ว และอีก 46.9% ตอบว่าเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอีก 33.6% ที่ให้เหตุผลว่าลืมที่จะปฏิบัติ
สำหรับสถานที่ที่ประชาชนเดินทางไปในช่วงนี้เป็นการเดินทางไปทำงาน 68.2% ไปซุปเปอร์มาร์เก็ต 64.3% ไปตลาดสด 61% ร้านอาหารแบบนั้นทาน 34.9% ส่วนการเดินทางไปศาสนสถาน สวนสาธารณะและฟิตเนส/โรงยิมในร่มอยู่ที่ 17.9%, 11.2% และ 7.2% ตามลำดับ โดยสถานที่เหล่านี้พบว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นสถานที่ที่จัดให้มีการวัดอุณหภูมิร่างกายมากที่สุดถึง 91.7% รวมทั้งมีการจัดให้มีที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สูงถึง 80.2%
อย่างไรก็ดี พิจารณาการพบเห็นมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อของสถานที่ต่างๆ พบว่าในภาพรวมแล้ว มาตรการที่ทำได้ดีคือการวัดอุณหภูมิร่างกายและการจัดให้มีที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งในภาพรวมสามารถทำได้ถึง 71.8% และ 73.6% ตามลำดับ แต่มาตรการอื่นๆสามารถพบเห็นได้ไม่ถึง 50% โดยมาตรการที่พบเห็นได้น้อยที่สุดคือการทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อในสถานที่และบนพื้นผิวสัมผัส มีการพบเห็นเพียง 26.3% การจัดระยะห่างระหว่างบุคคล พบเห็น 36.4% ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากาก 40.7% และพนักงานสวมหน้ากาก 41.2%
ผลสำรวจยังพบว่า ในการใช้ชีวิตของคนไทยทุกวันนี้มีเพียง 2% ที่ยังใช้ชีวิตเหมือนก่อนมีโควิด-19 ส่วนที่เหลือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยมีการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันต่างๆ และออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น 35.8% อีก 39.1% มีการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันตนเอง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงการพบปะญาติเพื่อนฝูง ส่วนอีก 12.2% มีการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันตนเอง ออกจากบ้านน้อยมากและแทบไม่พบปะคนนอกบ้านเลย และมีอีก 10% ที่ปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันตนเอง แต่ยังออกจากบ้านตามปกติ
ขณะเดียวกัน หากถามว่าโควิด-19 เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันในด้านในบ้าง พบว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพถึง 79.7% รองลงมาคือด้านการบริโภคอาหาร 62.5% ด้านการเดินทาง 62% ด้านครอบครัว 56.5% ด้านการเงิน 42.5% ด้านการทำงาน 33.8% และด้านการเรียน 27.9%
ในส่วนของความเห็นต่อการผ่อนคลายมาตรการในเดือน มิ.ย. ของ 3 กลุ่มกิจการที่คาดว่าจะได้รับการผ่อนคลายในเฟส 4 ในกลุ่มที่ 1 การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา พบว่า ประชาชนกว่า 35.1% คิดว่ายังไม่ควรให้เปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนกลุ่มที่ 2 กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต พบว่า ประชาชน 65.1% ยังไม่อยากให้เปิดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งานแสดงสินค้า งานอีเว้น ส่วนการแข่งขันกีฬาเป็นทีมมากกว่า 3 คน ก็มีประชาชน 56.1% ที่ยังไม่อยากให้เปิด เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ ศูนย์เด็กเล็ก และการจัดอบรม สัมมนา นิทรรศการ ก็มีประชาชนกว่าครึ่งที่ยังไม่อยากให้เปิดในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ ขณะที่กลุ่มที่ 3 กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ หรือสันทนาการ พบว่า ประชาชนประมาณ 61.8% ยังไม่อยากให้เปิดสนามมวยและสถานบริการ ผับ บาร์