ซีอีไอแบงก์ ‘ไทยพาณิชย์’ เผยธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่ม ‘ท่องเที่ยว-โรงแรม’ หันกู้เงินแบงก์เพิ่ม หลังตลาดหุ้นกู้ชัตดาวน์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมเปิดตัว ‘โรบินฮู้ด’ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ไม่คิดค่าจีพีร้านค้า-ไม่ชาร์จเงินคนสั่งอาหาร
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง ‘SCB New Normal’ ผ่านระบบออนไลน์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ และหากสถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยต่อไป
“เราไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ เราอยู่ในเมืองไทย เราอาจจะรู้สึกว่าเมืองไทยเราปัญหาคลี่คลาย ไม่มีคนติดเชื้อแล้ว แต่ว่าเศรษฐกิจมันเชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว รวมไปถึงการส่งออก ถ้าสถานการณ์ในโลกยังไม่ดีขึ้น โอกาสที่ปัญหาจะจบ ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ และอันนั้น คือ ความน่ากลัวของเรื่องนี้” นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ ระบุว่า แม้ว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกและไม่มีใครคาดคิด แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของสังคม มีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารฯให้อยู่รอดต่อไปได้ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าหลายแสนรายเป็นเงินซอฟท์โลนกว่า 3 หมื่นล้านบาท และเข้าช่วยเหลือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธนาคาร เช่น การร่นเวลาจ่ายเครดิตเทอมให้เร็วขึ้น เป็นต้น
“เราอยู่มาได้ขนาดนี้ เพราะความเชื่อมั่นของสังคมที่มีให้กับองค์กร เพราะฉะนั้นในเวลาที่สังคมลำบาก ประเทศเราลำบาก คนได้รับความเดือดร้อน ไทยพาณิชย์ต้องเข้าไปช่วย ซึ่งนโยบายของเรา คือ คนที่เป็นลูกค้าเราหรือคนที่เรามีโอกาสดูแลเขาได้ เราก็เข้าไปช่วยในทุกทาง รวมทั้งเข้าไปช่วยเหลือ stakeholder ที่ทำงานกับเราด้วย” นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารฯในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อในภาพจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่จะพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม มีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเดิมธุรกิจเหล่านี้จะออกหุ้นกู้ไประดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้อยู่ในภาวะชัตดาวน์ จึงเข้ามาสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มขึ้น
“สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากมาจากธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว ที่ต้องใช้เงินสำรอง ขณะเดียวกัน เดิหลายๆธุรกิจเคยระดมผ่านตลาดตราสารหนี้ ออกหุ้นกู้ได้ แต่ตลาดหุ้นกู้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาชัตดาวน์ ก็เลยทำให้มีดีมานด์ตรงนี้มาที่ตลาดแบงก์พาณิชย์ เกิดความต้องการสินเชื่อเพื่อไปทดแทนหุ้นกู้ที่ปิดลง โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่” นายอาทิตย์กล่าว
ส่วนแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ฯในช่วงไตรมาส 2/63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนั้น นายอาทิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบาย Debt holiday โดยให้ลูกหนี้พักหนี้ได้เป็นเวลา 6 เดือน ทำให้ยังมองไม่ออกว่าใครจะล้มหายตายจากไปจริงๆ ซึ่งนโยบายที่ธนาคารทำอยู่ตอนนี้ คือ การเยียวยาลูกค้าไปก่อน ส่วนตัวเลขการตั้งสำรองฯนั้น ปกติแล้วไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นตัวเลขที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากสามารถนำไปแกะเป็นงบกำไรขาดทุนได้
นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้จะไม่เห็นการปิดสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นจำนวนมากเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารฯจะปรับเปลี่ยนสาขาธนาคารฯ 200-300 แห่งให้เป็นสาขาขนาดย่อยลงไป และทำหน้าที่เป็น machine base ขณะที่พนักงานประจำสาขานั้นๆ จะมีการปรับปรุงทักษะใหม่ เพื่อทำหน้าที่ออกไปดูแลลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ หรือลงไปทำธุรกิจกับลูกค้าในชุมชนนั้นๆ เช่น การขาย และเรื่องสินเชื่อ เป็นต้น
“คนที่อยู่ในสาขาจะเป็นคนที่ออกไปดูแลลูกค้าที่อยู่ในคอมมูนิตี้ (ชุมชน) ตรงนั้น ในแอเรีย (พื้นที่) แถวนั้น คือเดินออกไปทำธุรกิจกับลูกค้า ซึ่งพนักงานสาขาจะต้องถูกรีสกิล โดยเน้นไปทำธุรกิจกับลูกค้ามากขึ้น เช่น บางคนอาจจะเอามาอยู่ที่คอลเซ็นเตอร์ หรือบางคนจะต้องไปอยู่ในงานขาย งานสินเชื่อ แต่ต้องออกไปเจอลูกค้ามากขึ้น มากกว่าตั้งรับอยู่ในสาขารอลูกค้ามาเจอ ซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้เป็นทิศทางที่ทำมาไว้ตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว” นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ ‘SCB New Normal’ ว่า ธนาคารฯจะเน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Work) ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (SCB work from anywhere) กล้าที่จะลองผิดลองถูกเพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนาจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำจากทุกทิศทางได้
นอกจากนั้น ธนาคารยังได้คิดค้น long-term solution โดยผนึกความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า สังคมและประเทศชาติ ด้วยการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ในเวลาเพียง 3 เดือน ภายใต้ชื่อ ‘Robinhood’ (โรบินฮู้ด) ซึ่งแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม (GP) ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์
“Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่างๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืน ขณะที่แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทยนี้ มุ่งมั่นที่จะเป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีกับนร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ” นายอาทิตย์ระบุ
นายอาทิตย์ ยังกล่าวว่า จะมีการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ‘Robinhood’ ปลายเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นมีร้านค้าเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มนี้แล้ว 20,000 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 4-5 หมื่นแห่ง ส่วนการจัดส่งอาหารนั้น จะดำเนินการโดยบริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด (skootar) ซึ่งมีสมาชิกมอเตอร์ไซด์หลายหมื่นคัน อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์ม Robinhood จะดำเนินการภายใต้บริษัท Purple Ventures ในเครือ SCB 10X โดยมีงบการลงทุน 100 ล้านบาทต่อปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/