ป.ป.ช. ยกคณะฯ ถก กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ผุดไอเดีย เปิด 'เว็บไซต์เฉพาะกิจ' โชว์รายละเอียดโครงการ หน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน แผนดำเนินงาน ผู้ชนะ-ร่วมประมูล ใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน เยียวยาโควิด-ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระดม 8 หน่วยงานตรวจสอบป้องปรามทุจริต
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายสุทธินันท์ สาริมาน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ร่วมกับผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือแนวทางการจัดทำมาตรการป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ห้องประชุม 411 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมดังกล่าวมีประเด็นข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ควรมีการศึกษาบทเรียนความสำเร็จและความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการในอดีต เช่น มิยาซาว่า ไทยเข้มแข็ง เป็นต้น และที่สำคัญคือต้องเน้นมาตรการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นได้ เช่น
1. เปิด “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” เพื่อเปิดเผยรายละเอียดโครงการ หน่วยงานรับผิดชอบ วงเงิน แผนดำเนินงาน ผู้ชนะการประมูลและผู้ร่วมประมูลอีกสองอันดับถัดไปพร้อมราคา รายงานความคืบหน้า ช่องทางร้องเรียน หน่วยงานรับผิดชอบสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
2. เมื่อมีการร้องเรียนทุจริตหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้หน่วยงานอย่างน้อยสองหน่วยเข้าตรวจสอบทันที คือ (1) สตง. (2) สำนักงาน ป.ป.ช. หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) หากจำเป็นจึงให้หน่วยงานอื่นเข้าร่วมดำเนินการ
3. มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส และร้องเรียนเมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ อาทิ โครงการหมาเฝ้าบ้าน โครงการ STRONG
@ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.
4. ป้องกันการเบิกจ่ายทับซ้อนค่าดำเนินโครงการกับงบประมาณอื่นหรือระหว่างหน่วยงาน โดยการระบุพิกัดที่ตั้งโครงการ (จีพีเอส) ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น งานก่อสร้าง จ้างแรงงาน หรือสร้างระบบ Data Mapping โครงการและงบประมาณ โดยใช้แอปพลิเคชันที่มีลักษณะเดียวกับแอปพลิเคชัน “ภาษีไปไหน” หน่วยงานรับผิดชอบ สพร.
5. กำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน บริหารจัดการโครงการ ว่ายอมให้มีได้มากน้อยเพียงใด
6. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีลักษณะการทำงานแบบหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยใช้หน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของแต่ละองค์กร ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. คตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนระดับสูงของสำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สพร. หน่วยงานสนับสนุนศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) หรือหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริต และเป็นการบูรณาการการทำงานขององค์กรด้านการต่อต้านการทุจริต
@นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
7. มี “คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน” ที่มีอำนาจเพียงพอ โดยที่มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการอิสระ หน่วยงานสนับสนุน สตง.
8. ให้นำ “มาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่มุ่งเน้นการลงโทษที่รุนแรงและรวดเร็ว
9. ควรนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาประยุกต์ใช้กับแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการตามพระราชกำหนดนี้ หน่วยงานรับผิดชอบ ศอตช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/