'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5% หลังประเมินตัวเลข 'การใช้จ่ายครัวเรือน-ลงทุนเอกชน' หดตัวเพิ่มขึ้น หนุนรัฐบาลเข้าไปดูแลการจ้างงาน-ใช้เงินให้ตรงจุด พร้อมระบุไทยจะต้องเผชิญอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีก 2-3 ปี
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็นติดลบ 6% จากต้นเดือนเม.ย.ที่คาดว่าจะติดลบ 5% เนื่องจากประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนเอกชน แม้ว่ารัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
“การใช้จ่ายครัวเรือนจะติดลบมากขึ้น จากไตรมาส 1/63 ที่ยังบวกได้อยู่ โดยมีปัจจัยจากการเรื่องการจ้างงานและคนเปลี่ยนพฤติกรรมไปออมมากขึ้น ทำให้ภาพการใช้จ่ายครัวเรือนลดลง ส่วนการลงทุนเอกชนจะหดตัวมากกว่าที่ประเมิน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน และการใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่เยอะ ซึ่งกระทบการลงทุนในระยะข้างหน้า ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 6.1% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัว” น.ส.ณัฐพรกล่าว
น.ส.ณัฐพร อธิบายว่า การส่งออกที่ติดลบเพียง 6.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบใกล้ 10% นั้น มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.63) ไทยส่งออกทองคำไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 6,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 7% ของการส่งออกรวม ขณะที่ทั้งปี 62 ไทยส่งออกทองคำมูลค่า 7,594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะติดลบประมาณ 60%
น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 จะหดตัวลึกที่สุดเป็นตัวเลขติดลบ 2 หลัก และปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่การฟื้นตัวยังต้องใช้เวลา ตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโควิด-19 ขณะที่สิ่งที่เยียวยาไม่ให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงลึกไปมากในวิกฤติรอบนี้ คือ การใช้มาตรการการคลังของภาครัฐ เช่น การจ่ายเงินเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ และหลังจากสิ้นสุดมาตรการเยียวยาในเดือนก.ค.แล้ว รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลการจ้างงาน
“มีคำถามว่าหลังคลายล็อคดาวน์แล้ว คนที่เคยว่างงานหลายล้านคงเข้าทำงานได้ไม่หมด ทำให้มีคนตกงานจำนวนหนึ่งยังค้างอยู่” น.ส.ณัฐพร กล่าว พร้อมระบุว่า จากการทำแบบสอบถามคนตกงานกลุ่มต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่อยากได้งานทำ แต่เมื่อยังไม่งานไม่มาก ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งทราบว่ารัฐบาลได้เตรียมใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ ในวงเงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ที่เน้นการจ้างงานในท้องถิ่นแล้ว
น.ส.ณัฐพร ยังกล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.5% ว่า มีความเป็นไปที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลงได้อีก แต่คงไม่ถึงขั้นใช้นโยบายดอกเบี้ยเป็น 0% หรือติดลบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องอยู่กับอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไปอีก 2-3 ปี เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับปี 62 จะต้องใช้เวลา 2-3 ปีเช่นกัน ซึ่งทำให้คนมีทางเลือกในการออมที่จำกัด
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 63 ศูนย์วิจัยฯประเมินว่าค่าเงินบาททั้งปีจะอยู่ที่เฉลี่ย 31.5-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินบาทในช่วง 1-2 วันนี้ที่แข็งค่าไปอยู่ที่ 31.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐขู่ว่าจะใช้มาตรการทางการค้ากับจีน แต่ในการแถลงล่าสุดไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติมออกมา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับทิศ ประกอบการผู้ส่งออกที่มีเงินดอลลาร์เปลี่ยนมาเป็นเงินบาท
น.ส.ณัฐพร กล่าวด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยน่าจะยังไม่เกิน 50% แต่ปัญหา คือ รัฐบาลจะใช้เงินให้ตรงจุดและเกิดประโยชน์สุงสุดอย่างไร โดยเฉพาะการเยียวยากลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมหลังจากนี้
ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และคาดว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคยานยนต์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมากนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่าที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวมาเท่ากับปี 62 อาจต้องใช้เวลาถึงปี 64 หรือนานกว่านั้น
“ภาครัฐต้องเร่งวางแผนช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจและธุรกิจที่ฟื้นช้า โดยต้องต่อลมหายใจธุรกิจให้อยู่ต่อไปได้ในช่วงเวลาข้างหน้า โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่กว่าจะฟื้นตัวกลับมาให้เท่ากับปี 62 จะต้องใช้เวลา และอาจจะไม่ใช่ปี 64 ก็ได้ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆนั้น ประเด็นเรื่องสภาพคล่องยังเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจ นอกเหนือจากการหาช่องทางรายได้ใหม่ และการสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า”น.ส.เกวลินกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/