แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์หลังทางการไทยต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 30 มิ.ย. 63 โดยขอให้รัฐบาลไม่นำมาตรการรับมือโรคโควิด-19 มาใช้เพื่อละเมิดสิทธิของประชาชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกหนึ่งเดือนจนถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยขอให้ทางการไทยรับประกันว่า มาตรการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องไม่ถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน การจำกัดการใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนและจำเป็น ต้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และย้ำว่าแม้การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิ่งที่กระทำได้ เมื่อจำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุมที่เป็นการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ จะต้องไม่ถูกลงโทษด้วยการจำคุก
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลไทยเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้อำนาจฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 ซึ่งมีการประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 และได้ถูกใช้เพื่อควบคุมการเดินทาง การชุมนุมอย่างสงบ ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีบทลงโทษทั้งจำคุกและ/หรือปรับ
ในระหว่างที่รัฐบาลไทยทบทวนมาตรการฉุกเฉินที่จะนำมาใช้รับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 หลังมีการล็อคดาวน์มานานสองเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอให้ทางการไทยรับประกันว่า การจำกัดการใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนและจำเป็น นอกจากนั้นยังเรียกร้องทางการให้มีมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถปกป้องตนเองได้ในช่วงการระบาดของโรค ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าถึงการดูแลและบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ หรือขาดศักยภาพที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังขอให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และงดเว้นการใช้มาตรการจำกัดสิทธิโดยพุ่งเป้าไปที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ทั้งยังมีการลงโทษด้วยแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไม่ได้สัดส่วน แม้การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิ่งที่กระทำได้ เมื่อจำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุมที่เป็นการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ จะต้องไม่ถูกลงโทษด้วยการจำคุก